รัฐสภา 11 ส.ค.- รัฐบาล ยืนยันต่อ สนช.ให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SME ผ่านกลไกประชารัฐให้เกิดการพัฒนาครอบคลุมทุกระดับ เพื่อสร้างความยั่งยืน ขณะที่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณากระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจรายย่อย ซึ่งพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต เป็นผู้ตั้งถาม เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและรายย่อย ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จึงต้องการทราบว่ารัฐบาลมีนโนบายหรือมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยอย่างไรบ้าง รวมทั้งมีแผนในการบริหารจัดการเงิน จำนวน 20,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติอย่างไร
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันครอบคุลมทุกระดับ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งสนับสนุนมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสม โดยมีการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับเงินทุนไปดำเนินกิจการที่ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งนี้มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการจะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ขณะเดียวกันยังมีมาตรการสนับสนุนที่ไม่ใช่มาตรการด้านการเงินอีกด้วย เช่น การส่งเสริมองค์ความรู้ การเสริมทักษะด้านธุรกิจ มีระบบพี่เลี้ยงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และต่อยอดองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคต
นอกจากนี้ที่ประชุม สนช. ยัง มีมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ….. ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 188 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน มีกรอบเวลาดำเนินการ 30 วัน โดย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2543 บางประการให้เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยการเพิ่มเติมให้มีการใช้รายได้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะของเอสเอ็มอี เพื่อให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว้างขวางมากขึ้น
รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแต่งตั้งประธานกรรมการจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ รวมทั้งกำหนดรองรับให้คณะกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้กรณีขนาดองค์ประกอบ ตลอดจนกำหนดกระบวนการรองรับให้มีการเลือกประธานกรรมการในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
ด้านสมาชิก สนช. เห็นด้วยในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหัวใจสำคัญของฐานเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอีในสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของเอสเอ็มอี พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชนให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย
