ขอนแก่น 9 ส.ค.-นักวิจัยไทยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก บริเวณเทือกเขาภูพาน เป็นไม้เลื้อยที่มีเนื้อไม้ อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ขณะนี้กำลังเพาะขยายและปลูกลงแปลงที่สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น เพื่อศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ และต่อยอดในการใช้ประโยชน์ต่อไป
นี่คือต้น “เสี้ยวกำมะหยี่” หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เครือศักดิ์สุวรรณ” เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่นักวิจัยไทยค้นพบในประเทศไทยบริเวณเทือกเขาภูพาน และได้รับการรับรองให้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เสี้ยวกำมะหยี่ เป็นชื่อเรียกพืชชนิดนี้แบบง่ายๆ ตามลักษณะใบที่คล้ายกับใบเสี้ยว และฝักมีลักษณะมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เป็นไม้เลื้อยที่มีเนื้อไม้ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน
คณะนักวิจัย ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ประนอม จันทรโนทัย พบพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2542 มีเพียงกลุ่มเดียวเพียง 8-9 ต้น เท่านั้น และใช้เวลาประมาณ 14 ปี ในการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้สกุลเสี้ยวระดับโลกชาวเดนมาร์ก ศาสตราจารย์ไค ลาร์เซน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโครงการพรรณพฤกษาชาติแห่งประเทศไทย และศาสตรจารย์สุพี ศักดิ์สุวรรณ ลาเซนต์ ภรรยา รวมทั้งตีพิมพ์วารสารระดับโลกของการค้นพบพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ จนได้รับการรับรอง ให้เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลกชนิดล่าสุด และตั้งชื่อว่า เครือศักดิ์สุวรรณ เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ไค ลาร์เซน และภรรยา ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พาเนรา ลาเซนเนียนา
ขณะนี้นักวิจัยได้รวบรวมต้นพันธุ์เสี้ยวกำมะหยี่ หรือเครือศักดิ์สุวรรณ จากธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ มาเพาะขยายและปลูกลงแปลงที่สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น เพื่อศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์และต่อยอดในการใช้ประโยชน์ต่อไป.-สำนักข่าวไทย