กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – รมช.คมนาคมติงกรมการขนส่งทางบกทดสอบเดินรถเมล์เส้นทางใหม่ตามแผนปฏิรูปย้ำต้องยืดหยุ่นเป็นฟีดเดอร์รถไฟฟ้า รองรับการขยายตัวของเมือง ระบุหลังทดลองเดินรถเส้นทางใหม่เสร็จ เตรียมเสนอให้ คสช.ออก ม.44 ปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ทั้งระบบ
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเตรียมทดลองเดินรถเมล์เส้นทางใหม่ตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ทั้งระบบขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะมีการทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ปรับเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์มีพยัญชนะภาษาอังกฤษบอกถึงโซน ว่า กระทรวงคมนาคมให้นโยบายกรมการขนส่งทางบกว่าการกำหนดเส้นทางเดินรถของ ขสมก. กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ดำเนินการกำหนดเส้นทางต่าง ๆ จำเป็นต้องดูแลให้ยืดหยุ่น เมื่อทดลองแล้วหากพบว่าทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ใช้บริการก็สามารถยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนได้
นอกจากนี้ เมื่อกำหนดเส้นทางเดินรถอย่างเป็นทางการและมีเอกชนสัมปทานเดินรถ การทำสัญญาสัมปทานก็ต้องกำหนดให้มีความคล่องตัวสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทาง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากในอนาคตตามนโยบายรัฐบาลกำหนดให้รถเมล์ต้องเป็นส่วนหนึ่งเชื่อมต่อส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหรือฟีดเดอร์ รวมทั้งต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง เพื่อให้การเดินรถสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 เรื่องกำชับให้กรมการขนส่งทางบกนำไปเป็นปัจจัยหลักกำหนดเส้นทาง
ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาที่จะดำเนินการหลังจากทดสอบเดินรถเส้นทางต่าง ๆ จนลงตัวแล้ว หลังจากนี้ 2 เดือนกระทรวงคมนาคมจะมีการนำเสนอให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้กฎหมายพิเศษหรือ ม.44 เพื่อปฏิรูปทั้ง 269 เส้นทาง โดยจะยกเลิกสัมปทานเดินรถเดิมของเอกชนทั้งหมด เพื่อนำเส้นทางมาเกลี่ยใหม่ หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเดินรถเข้ามาสัมปทานแต่ละเส้นทาง โดยเอกชนแต่ละรายจะได้อายุสัญญาเดินรถ 7 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการตรียมทดลองเดินรถเส้นทางใหม่ที่มีการปฏิรูป เพื่อสร้างการรับรู้นั้น วันที่ 9 สิงหาคมนี้กรมการขนส่งทางบกเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถที่จะทดสอบ หลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากรถเมล์แต่ละสายจะมีการกำหนดนำพยัญชนะภาษาอังกฤษมารวมไว้ เพื่อระบุถึงโซนพื้นที่เดินรถของกรุงเทพฯ โดยมีประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าการนำพยัญชนะภาษาอังกฤษมารวมจะทำให้เกิดความสับสน ขณะที่กรมการขนส่งทางบกเห็นว่าในอนาคตการเดินรถในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งจะรองรับอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกับภูมิภาค ทำให้นักท่องเที่ยวจดจำได้ง่าย
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ทั้งหมดเป็นการปรับเส้นทาง แต่เส้นทางยังมีเช่นเดิม เพียงแต่บางเส้นทางถูกตัดทอนให้สั้นลงและบางสายระยะทางอาจเพิ่มขึ้น โดยเป็นการปรับให้สอดคล้องกับการเดินทาง ต่างจากในอดีตที่เส้นทางจะเกิดขึ้นตามความต้องการของประชาชนในการเดินทาง ทำให้หมายเลขไม่เรียงกันจึงจำเป็นต้องระบุตัวเลขแบบใหม่และระบุพื้นที่โดยใช้สีเป็นตัวกำหนด โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม มองว่าการปฏิรูปเส้นทางจะเป็นการควบคุมคุณภาพของทั้ง ขสมก.และรถร่วม เพราะจะมีการประเมินการให้บริการและลดการทับซ้อนการให้บริการของทั้งรถ ขสมก. และรถร่วม ส่วนการให้ ขสมก.มีสิทธิ์เลือกเส้นทางก่อนจะทำให้รถร่วมเสียเปรียบหรือไม่ มองว่าบางเส้นทาง ขสมก.ให้บริการอยู่แล้ว และมีความพร้อมในการเดินรถมากกว่า เช่นเดียวกับบางพื้นที่ที่รถร่วมให้บริการอยู่เดิมก็จะมีความพร้อมมากกว่า ขสมก.-สำนักข่าวไทย