สธ.7 ส.ค.-กรมสุขภาพจิต ระดมทีมจิตแพทย์เอ็มแคท 14 ทีมจากจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 ลงตรวจประเมินความเครียดอาการซึมเศร้าผู้ประสบภัยจากพายุเซินกาใน จ.สกลนคร หลังน้ำลด สร้างพลังใจให้ก้าวผ่านวิกฤติอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผลการประเมินสุขภาพจิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบซึมเศร้า 10 คน คิดฆ่าตัวตาย 1 คน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุเซินกา ว่า สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะ ที่ จ.สกลนครซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรง ท่วม 13 อำเภอ ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงและเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู ซึ่งยังต้องติดตามดูแลเฝ้าระวังผลกระทบทางจิตใจและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องในกลุ่มที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตซึ่งมี รายงาน 12 คน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว และกลุ่มที่มีความเครียดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย
สำหรับแผนฟื้นฟูในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังน้ำลดมอบหมายให้ โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ,รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จ.อุดรธานี ร่วมปฏิบัติการและสนับสนุนวิชาการให้แก่ทีมช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจหรือทีมเอ็มแค็ทเครือข่าย( Mental health Crisis Assessment and Treatment Team :MCATT) ในเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งมาจาก รพ.ต่างๆในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม มีประมาณ 14 ทีม
การดำเนินการครั้งนี้ มีเครื่องมือ 2 ชนิด ได้แก่เครื่องมือประเมินคัดกรองระดับความรุนแรงความเครียด อาการซึมเศร้า และสัญญาน ความเสี่ยงการฆ่าตัวตายและเครื่องมือเสริมพลังใจและสร้างความเข้มแข็งทางใจ เนื่องจากการเผชิญวิกฤติ ส่งผลให้ความเข้มแข็งทางจิตใจลดน้อยลง เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถปรับตัวและหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในพื้นที่8อำเภอที่วิกฤติที่สุดก่อนได้แก่ อ.เมือง กุสุมาลย์ พรรณานิคม วานรนิวาส โพนนาแก้ว พังโคน อากาศอำนวย และอ.สว่างแดนดิน ซึ่งจะมี อสม.ซึ่งคุ้นเคยรู้จักบ้านและชุมชนดีที่สุดร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยจะให้การดูแลรักษารายที่มีปัญหาจนกว่าอาการจะกลับมาสู่สภาวะปกติทุกคน ส่วนพื้นที่จังหวัดนครพนม จะดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูในระยะต่อไป
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวถึงผลการดูแลสุขภาพจิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ จ.สกลนคร ได้ตรวจประเมินผู้ประสบภัย 765 คน เป็นผู้ใหญ่ 542 คน ที่เหลือเป็นเด็ก ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตจำนวน 468 คน มากที่สุดคือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังประจำตัวจำนวน 343 คน พบว่าร้อยละ 85 มีความเครียดในระดับน้อย พบเครียดปานกลางถึงรุนแรงรวม 67 คน ในจำนวนนี้มีอาการซึมเศร้า 10 คน และ มีความคิดฆ่าตัวตาย 1 คน จิตแพทย์ได้ให้การรักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
ส่วนผู้สูงอายุพบว่ามีความกังวลอยู่บ้างเพราะเสียดายทรัพย์สิน แต่ปรับตัวยอมรับได้ ไม่พบปัญหานอนไม่หลับ ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ประสบภัยอื่นๆเช่นที่นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เป็นต้น จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย