กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – แม่ค้าครวญหวังให้รัฐบาลยังช่วยเหลือก๊าซแอลพีจี ราคาถูกต่อไป หลัง กพช.สั่งทบทวน
หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 31 กรกฎาคม เห็นชอบให้ปรับระบบและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านพลังงาน โดยให้ดำเนินการผ่านระบบบัตรสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ของกระทรวงการคลังทดแทนนโยบายและมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ราคาถูก ภายในวงเงินค่าไฟฟ้า 200 บาท/คน/เดือน และแอลพีจีภายในวงเงิน 45 บาท/คน/ 3 เดือน ส่วนโครงการช่วยเหลือหาบเร่แผงลอยให้ทบทวนจากเดิมได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 150 กก./เดือน หรือ 10 ถัง โดยขายให้ในราคา 18.13 บาท/กก. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น
นางพนิดา แสงกิตติกร แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว ด้านตลาดดินแดง กทม. กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือต่อไป เพราะปัจจุบันได้รับส่วนลดประมาณ 35 บาทต่อถัง ได้ 6 ถัง หรือ 210 บาท/เดือน ได้เป็นส่วนลดก็ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยเดิมขายอยู่ริมถนน แต่เมื่อรัฐบาลชุดนี้จัดระเบียบมาให้ขายในตลาดต้นทุนค่าที่และอื่น ๆก็สูงขึ้นและเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ขายไม่ค่อยดี หากไม่มีเงินช่วยเหลือเรื่องก๊าซต้นทุนก็สูงขึ้นอยากให้เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งก็ยอมรับว่าราคาก๋วนเตี๋ยวปีนี้ปรับราคาขึ้นจาก 30 บาท เป็น 35 บาท/ชาม ก็เนื่องจากต้นทุนอื่น ๆ ขยับขึ้น เช่น ราคาเนื้อสัตว์ แล้วจะให้ขายราคาเดิมคงไม่ได้
นางฐิตารีย์ เกียรติกรกาญจน์ แม่ค้าน้ำพริก ผักต้ม ย่านตลาดเซียร์ รังสิต กล่าวว่า ใช้ก๊าซ 10 ถัง/เดือน ได้ส่วนลดประมาณ 500 บาท/เดือน เงินตรงนี้ก็ช่วยได้มาก มีคุณค่าโดยเข้าโครงการมาตั้งแต่แรกและที่ผ่านมาก็ไม่เคยขึ้นราคาขาย น้ำพริกยังขาย 15 บาท ผักต้ม 3 กำ 10 บาท หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจะไปขึ้นราคาสินค้าก็ยาก เพราะ คนมาซื้อก็เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ก็อยากได้ของถูกเช่นกัน ดังนั้น ก็หวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือต่อไป
ด้านสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 ที่ประชุม กพช.ได้รับทราบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนรวม โดยมีการใช้พลังงานทดแทนทุกประเภทเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 31.9 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ สำหรับการจัดหาพลังงานขั้นต้น พบว่า การผลิตพลังงานจากแหล่งในประเทศลดลงร้อยละ 4.8 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ1.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของการใช้พลังงานขั้นต้น ส่วนแนวโน้มปี 2560 นั้น คาดว่าความต้องการพลังงานขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวทุกประเภทยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะลดลงตามการใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้าที่ลดลงในช่วง 6 เดือนแรก โดยในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยอยู่ในช่วง 47-57 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะอยู่ที่ 186,484 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมของประเทศ (Energy Intensity) คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้พลังงานของประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย