นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เห็นชอบแผนเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีนั้น ไทยออยล์คงไม่สามารถเพิ่มกำลังการกลั่นแอลพีจีป้อนสู่ตลาดได้มากนัก แม้ว่าภาครัฐจะปรับเพิ่มราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจากราคาตะวันออกกลาง (CP) ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ (CP-20$)เป็นราคา CP ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี2560 เนื่องจากปัจจุบันกำลังผลิตแอลพีจี ของไทยออลย์ เป็นการผลิตในอัตราสูงมากอยู่แล้วอยู่ที่ 1,450 ตันต่อวัน แต่มองว่าการปรับสูตรดังกล่าวจะเป็นผลดี ทำให้ทางโรงกลั่นต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นการขายที่รับภาระ โดยในส่วนของไทยออยล์ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากราคาแอลพีจี ที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้โรงกลั่นอื่นๆ ผลิตแอลพีจีเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในส่วนของโรงกลั่นที่มีทางเลือกในการนำแอลพีจีไปผลิตทั้งปิโตรเคมีและการขายเข้าสู่ตลาด หากพิจารณาพบว่าสามารถทำรายได้จากส่วนใดได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้โรงกลั่นนั้นมีทางเลือกที่จะผลิตแอลพีจีว่าจะนำเข้าสู่ปิโตรเคมี หรือ ขายเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภค
“ราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นที่ขยับขึ้น ยังไม่เป็นราคาเสรี เพราะข้อเท็จจริงโรงกลั่นมีต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น แต่ละโรงกลั่นจะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ทั้งน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง และประกันภัย ซึ่งหากรัฐจะเปิดเสรีก็ไม่ควรจะกำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงกลั่น แต่เข้าใจว่ารัฐจะค่อยๆทำ ซึ่งในกรณีได้ราคา CP ก็ยังดีกว่า ได้ราคา CP -20 ที่เดิมเป็นราคาที่ต้องแบกภาระต้นทุน” นายอธิคมกล่าว
นายอธิคม กล่าวว่า ไทยออยล์ อยู่ระหว่างทบทวนเรื่องการจัดลำดับการลงทุนในโรงงานเอทานอล ที่ปัจจุบันบริษัท มีการลงทุนอยู่ 3 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 830,000 ลิตรต่อวัน โดยบริษัทจะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งการขายหุ้นออก หรือ ปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน ผลตอบแทนการลงทุนของธุรกิจเอทานอลไม่ได้สูงมากนัก ประกอบกับสถานการณ์การค้าเอทานอล ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา7 จะเป็นผู้ซื้อเอทานอลมาให้โรงกลั่นผสมเพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ออกไปจำหน่ายต่อ ทำให้ความจำเป็นที่โรงกลั่นจะต้องมีพอร์ตเอทานอลของตัวเองจึงลดลง
ดังนั้น ไทยออยล์ จะต้องพิจารณาว่าจะปรับพอร์ตธุรกิจอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องคงสัดส่วนของธุรกิจกรีนไว้ ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากโรงงานเอทานอลไปสู่ธุรกิจกรีนให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2560 .-สำนักข่าวไทย