ภูมิภาค 3 ก.ค. – ผลพวงการออกกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ทำให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทยอยเดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันบังคับใช้กฎหมาย มีแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว 29,000 คน
ที่ภาคเหนือ ด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก เนืองแน่นไปด้วยแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ที่แห่เดินทางกลับประเทศจนล้นด่านพรมแดน เจ้าหน้าที่ต้องเสริมกำลังอำนวยความสะดวก และยังจัดอาหาร น้ำดื่ม ให้บิรการด้วย แรงงานส่วนใหญ่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เฉลี่ยวันละกว่า 3,000 คน รวมยอดตลอดสัปดาห์มีแรงงานเมียนมาร์เดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 20,000 คน
เช่นเดียวกับที่ชายแดนจุดผ่อนปรนชั่วคราว บ้านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับฝั่งอำเภอพญาตองซู ของเมียนมาร์ มีแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ทยอยเดินทางกลับต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 200-300 คน มีทั้งแรงงานผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นลูกของแรงงานที่เกิดในไทย ขณะที่ทหารอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนชายแดน
ส่วนทางภาคตะวันออก ซึ่งติดกับฝั่งประเทศกัมพูชา บรรยากาศไม่ต่างกัน นายรัฐวิทย์ ตั้งเกียรติ นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า มีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศผ่านด้านถาวรหมู่บ้านแหลม เฉลี่ยวันละ 500 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรม จึงอยากให้ภาครัฐดูแลแก้ไขปัญหา
ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยผลการประชุมว่า เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตราในพระราชกำหนดบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้แก่ มาตรา 101 มาตรา102 และมาตรา 122 ซึ่งกำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยเห็นควรให้ชะลอการบังคับใช้ไปอีก 120 วัน มีผลย้อนถึงวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดฉบับนี้บังคับใช้ ซึ่งน่าจะเพียงพอในการดำเนินการทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ผิดนายจ้าง ผิดตำแหน่ง และผิดสถานที่ นายจ้างสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในภูมิลำเนาที่อาศัยอยู่ ส่วนแรงงานที่มีบัตรสีชมพูและหนังสือรับรองจากประเทศต้นทางเรียบร้อยแล้ว แต่ขอใบอนุญาตทำงานไม่ทันภายใน 15 วัน ที่ประชุมมีมติอนุญาตให้ขยายเวลาสำหรับกลุ่มแรงงานทั่วไปดำเนินการได้ถึงวันที่ 31 มี.ค.61 ส่วนกลุ่มแรงงานประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ ดำเนินการได้ถึง 1 พ.ย.60 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้นทางแล้ว 29,000 คน แต่ก็มีแรงงานเข้ามาใหม่ ภายใต้ MOU ประมาณ 60,000 คน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเมียนมาร์ก็รับหลักการนำเข้าแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ ยกเว้นแรงงานประเภทบริการและทำงานบ้านที่ยังต้องนำเข้าแบบนิติบุคคล โดยให้แต่ละฝ่ายตั้งคณะทำงายฝ่ายละ 5 คน เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ จึงคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้. – สำนักข่าวไทย