มักกะสัน 2มิ.ย.-กรมกิจการเด็กฯ จัดประชุมแก้ปัญหาสถานะทางบุคคลแก่เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ กว่า 500 คน หลัง ครม.มีมติให้สัญชาติไทยแก่เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ จบปริญาตรีและอยู่ไทยมากกว่า10 ปี
นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลแก่เด็กและเยาวชนในความอุปการะของสถานรองรับ ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และซักซ้อมเจ้าหน้าที่ในสถานรองรับของ ดย. เพื่อให้ทราบถึงหลักการปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองคนไร้รากเหง้า ซึ่งมี 2แบบทั้งแบบคนที่เกิดและอาศัยอยู่ในไทย แต่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งและกลุ่มคนที่ไม่ได้เกิดในไทยแต่อาศัยอยู่ในไทย และแนวทางการดำเนินการยื่นขอสัญชาติไทยให้แก่เด็กไร้รากเหง้า ไร้สถานะในสถานรองรับ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการได้สัญชาติมากขึ้น จะได้สิทธิขั้นพื้นฐานบริการสวัสดิการสังคม ได้รับการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิเกิดความมั่นคงในชีวิต และเพื่อให้การแก้ปัญหาบุคคลไร้สถานะมีผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7ธ.ค.2559กำหนดการให้สัญชาติไทยสำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษาและคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในไทยแก่คนใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เกิดจากพ่อแม่ชนกลุ่มน้อยมาอยู่ไทยก่อนวันที่ 30 กย.2542 หรือไม่น้อยกว่า15ปี,2.กลุ่มที่พ่อแม่ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แต่เกิดในไทย อยู่ต่อเนื่อง เรียนที่ไทยจนจบปริญาตรี และ 3.กลุ่มคนที่มีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้า จาก พม.และมีหลักฐานว่าอยู่อาศัยในไทยตั้งแต่เกิดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี
นายวิทัศน์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กไร้รากเหง้า ไร้สถานะที่อยู่ในความดูแลของสถานรองรับของ ดย.ทั้ง 29 แห่งทั่วประเทศ ในประเภทกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มไม่มีเอกสารแสดงตัวตน กลุ่มที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0,00,7,6 เป็นต้น พบมีทั้งหมด 371 คน และเด็กที่ถูกจำหน่ายออกจากสถานรองรับ หรือเด็กที่อายุเกิน 18 ปี อีกกว่า 180 คน รวม 551 คน ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งจำนวนนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูว่าเด็กในจำนวนนี้เข้าข่ายตามเงื่อนไข 3 กลุ่มข้างต้นที่ ครม.กำหนดหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่ามีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่เข้าข่ายได้รับสัญชาติไทย
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจขอมูลคนไร้รากเหง้าของไทย เมื่อปี 2552 พบมีคนไร้รากเหง้าอาศัยอยู่ในไทยประมาณ 7,900 คน ซึ่งนอกจากเด็กในความดูแลของ ดย.แล้ว ในจำนวนนี้ในส่วนของกรมอื่น ที่สังกัด พม.ด้วย เช่นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) อาจมีเด็กที่อยู่ในความดูแลเข้าข่ายได้รับสัญชาติไทยด้วย ดังนั้นเพื่อให้เด็กเหล่านี้ เข้าถึงการได้รับสัญชาติอย่างทั่วถึง จึงเตรียมหาร่วมกับกรมดังกล่าวและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกครั้งประมาณปลายเดือนมิ.ย.นี้ .-สำนักข่าวไทย