กรุงเทพฯ 24 พ.ค. – เอกชนเสนอเทรนด์ใหม่ค่าไฟฟ้าออนไลน์จากโซลาร์รูฟท็อปเหลือใช้ เตรียมจับมือชุมชนผู้ผลิตไฟฟ้า ชี้เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกพลังงานลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทเจรจาร่วมทุนทั้งในไทยและต่างประเทศจนมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เทียบเท่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้น การเดินหน้าเพื่อหากำลังผลิตใหม่ก็ยังทำต่อเนื่องแต่จะไม่ตั้งเป้าหมาย และจะเน้นมาที่ตลาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ แทน โดยเฉพาะรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าออนไลน์ในไทย เช่นเดียวกับสินค้าออนไลน์ “อาลีบาบา” โดยในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ยุโรป เริ่มมีตลาดนี้แล้ว นั่น คือ ผู้ผลิตโซลาร์รูฟท็อป นำไฟฟ้าเหลือใช้มาขายให้กลุ่มผู้ต้องการใช้ไฟฟ้าในราคาแข่งขันกันเอง ซึ่งทาง BCPG ได้หารือกับกระทรวงพลังงานและชุมชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อทำเทรดดิ้งแพลทฟอร์มนี้น่าจะเห็นชัดเจนปีนี้ ซึ่งแนวทางนี้จะลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีปัญหาต่อต้านจำนวนมาก
ทั้งนี้ BCPG ยังย้ำด้วยว่าจะเสนอขายไฟฟ้าในส่วนของภาครัฐประกาศรับซื้อทั้งการร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และราชการ รวมถึงระบบไฮบริด โดยจะเน้นเรื่องไบโอแมสที่นำผลิตผลเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตไฟฟ้ารูปแบบนี้ เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย
“โซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร เราเสนอร่วมทุนไปหลายพื้นที่ หากโชคดีถูกจับสลากได้ ก็หวังว่าจะได้ประมาณ 20 เมกะวัตต์ ส่วนระบบไฮบริดที่รัฐจะเปิดรับซื้อทั้งเอสพีพี และวีเอสพีพี จะทำไบโอแมสและโซลาร์คาดหวัง 20-30 เมกะวัตต์ โครงการยิ่งยากก็ยิ่งถนัด” นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า บริษัทมีกระแสเงินสด มีรายได้จากการดำเนินการ มีเงินกู้ และเงินระดมทุนจากกระจายหุ้นขณะนี้ 20,000 ล้านบาท ทำให้มีความสามารถกู้เงินเพื่อขยายกิจการได้อีก 2-3 เท่า รวม 50,000-60,000 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการ เพิ่มเติมได้อีกเทียบเท่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีหลายรายในเอเชีย ทั้งรูปกองทุนที่ร่วมทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโครงการลงทุนใหม่ต่างเสนอขายหลายพันเมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโอกาสแต่บริษัทก็ต้องคัดเลือกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ บีพีซีจีมีกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากำลังผลิตโซลาร์ฟาร์ม 1,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 577 เมกะวัตต์ แยกเป็นในไทย 182 เมกะวัตต์ ญี่ปุ่น 192.3 เมกะวัตต์ ฟิลิปปินส์ 20 เมกะวัตต์ อินโดนีเซีย 185 เมกะวัตต์. -สำนักข่าวไทย