พม.23 พ.ค.-รมว.พัฒนาสังคมฯ ย้ำทุกหน่วยงานในสังกัด เข้มมาตรการการรักษาความปลอดภัย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเด็กหญิงวัย 14 ปี ถูกกลุ่มวัยรุ่นชายล่วงละเมิดทางเพศ ที่ จ.หนองคาย
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ 634/2557-2560 เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุระเบิดที่บริเวณชั้น 1อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 ปี รพ.พระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีผู้บาดเจ็บ 21 คนนั้น ตนมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวงฯ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กระทรวงฯ สะพานขาว ได้กำหนดพื้นที่รักษาความปลอดภัย มาตรการควบคุมบุคคล มาตรการควบคุมยานพาหนะ กำหนดเวลาเปิด-ปิดประตู และการวางกำลังรักษาความปลอดภัย ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวพม.ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า จากกรณีเด็กหญิงวัย 14 ปีถูกวัยรุ่นชาย6 คน ข่มขืนกระทำชำเราจนหมดสติภายในกระท่อมนาท้ายหมู่บ้าน ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคายนั้น ได้กำชับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคาย (พมจ.หนองคาย)พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเมินทางสังคมของครอบครัวดังกล่าวพร้อมให้การช่วยเหลือตามภารกิจด้านเด็กของกระทรวง โดยเฉพาะเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กหญิงดังกล่าว เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติต่อไป
สำหรับกรณีหญิงชราวัย 60 ปี ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ และมะเร็ง ที่เต้านม จนมีแผลขนาดใหญ่สร้างความเจ็บปวดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งถูกลูก 2 คน ทอดทิ้งไม่เคยมาดูแล หญิงชราดังกล่าวอาศัยอยู่กับน้องสาวและหลานที่สติไม่สมประกอบ ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องขอ ข้าววัดกินเพื่อประทังชีวิตที่อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีนั้น กำชับให้ พมจ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเมินทางสังคมของครอบครัว พร้อมให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น อีกทั้งมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การช่วยเหลือดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง และให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนพิการที่จดทะเบียนคนพิการตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการ พ.ศ.2550 และการส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอและมั่นคงในระยะยาวต่อไป .-สำนักข่าวไทย