สำนักข่าวไทย 8 พ.ค.- จิตแพทย์เผยกระบวนการตรวจสอบสภาพจิตใจ ‘หมูหยอง’ ต้องแยกให้ออกระหว่างป่วยและก้าวร้าว กับก้าวร้าวโดยนิสัย ต่อต้านสังคม แนะวิธีอบรมบุตรหลานไม่ให้มีความก้าวร้าวรุนแรง
นพ.ศรุตพันธ์ุ จักรพันธุ์ ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณีทางกรมราชทัณฑ์จะส่งทีมจิตแพทย์ตรวจสอบสภาพจิตใจ “หมูหยอง”ว่า ทราบว่า ทีมจิตแพทย์จะลงไปทำการประเมินนายสาทิตย์ สาแก้ว หรือหมูหยอง นั้น เป็นทีมจิตแพทย์ ของ รพ.จิตเวชนครราชสีมา ซึ่งดูแลพื้นที่ จ.ชัยภูมิ สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบสภาพจิตใจ นั้น จะเริ่มจากการซักประวัติทั่วไป และพูดคุย พร้อมกับการให้ทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินทางสภาพจิตใจ อย่างไรก็ตามทุกขั้นการกระทำการตรวจสอบทางจิตนี้ ต้องมีเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กและเยาวชนร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากหมูหยองถือว่า อยู่ในเกณฑ์เยาวชน เพราะอายุต่ำกว่า 18 ปี
นพ.ศรุตพันธ์ุ กล่าวว่า การวิเคราะห์ชี้ขาดว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นนิสัย บุคลิก หรือ อาการป่วย ก็สามารถทำได้ โดยคนป่วย อย่างไรก็คือ คนป่วย จะมีอาการของโรค แสดงออกมาอย่างชัดเจน กลุ่มคนเหล่านี้ นับได้ว่า น่าสงสาร กระทำทุกอย่างลงไป มักไม่รู้ตัว มีอาการหูแว่วประสาทหลอน เมื่อรักษาหายก็เหมือนกับคนปกติ แต่สำหรับคนที่มีความรุนแรงหรือ นิสัยก้าวร้าว หรือชั่วสันดาน โดยพื้นฐานกลุ่มคนเหล่านี้ จัดเป็นพวกมีบุคลิกต่อต้านสังคม พื้นฐานมาจากครอบครัวที่แตกแยก ขาดคนสั่งสอนอบรม ทำให้พื้นฐานไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แยกไม่ออกระหว่างดีหรือชั่ว ขาดคุณธรรมในจิตใจ เช่น ทำร้ายสัตว์ตีสุนัข และแมว ก็อาจมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนพวกนี้ในต่างประเทศถือเป็นกลุ่มอาการทางจิตอย่างหนึ่ ง แต่สำหรับประเทศไทย อาการเหล่านี้ ไม่ถือเป็นโรค หรือ อาการทางจิต
นพ.ศรุตพันธ์ุ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันเด็กไม่ให้มีบุคคลิกต่อต้านสังคม หรือบ่มเพาะเป็นอาชญากร ได้นั้นสามารถทำได้ ด้วยการอบรมสั่งสอน ให้อยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนของกลุ่มบุคลิกต่อต้านทางสังคมนั้น มักในเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง การให้เด็กเข้าวัดทำบุญ ไม่สามารถทำได้ ต้อง ค่อยๆอบรมสั่งสอน ใช้การชื่นชม อย่าตอบโต้ด้วยรุนแรงในการสั่งสอน ควรใช้การค่อยๆอธิบาย ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง พฤติกรรมของเด็กจะค่อยเปลี่ยนไป.-สำนักข่าวไทย