กองบัญชาการกองทัพไทย 3 พ.ค.-ศาลรัฐธรรมนูญจัดสัมมนามิติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รองปธ.ศาลปกครองสูงสุด ระบุ ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมไม่เคยมีในประเทศใด
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ19 ปี โดยมีการอภิปราย หัวข้อ “มิติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” มีวิทยากรประกอบด้วย นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายสุทิน นาคพงษ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ มีนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวัส กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมกรณีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำได้ง่ายกว่าเดิม คือสามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานใหม่ และกำหนดให้คำตัดสินขององค์คณะที่จะพิจารณาคดีใหม่ว่าเป็นคำตัดสินของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อีกทั้งสร้างกลไกตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผ่านประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ และการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งอาจจะเป็นระเบิดเวลาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญเพราะเขียนไว้กว้าง ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550
นายวรพจน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนแปลงเรื่องระบบเลือกตั้งมาเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกทำ ที่ผ่านมาได้ศึกษาว่านำตัวอย่างมาจากประเทศใด อาจจะเอามาจากชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งก็ได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่ากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญคงไม่ได้จินตาการอะไรที่เกินความเป็นจริง นอกจากนี้ในมาตรา 77 ที่กำหนดว่าการออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นทุกขั้นตอน ซึ่งหมายถึงการทำประชาพิจารณ์ อาจจะทำให้เป็นอุปสรรค เพราะไม่จำกัดความคำว่าผู้เกี่ยวข้อง
“การออกกฎหมายฉบับหนึ่งย่อมกระทบประชาชนทุกคนจึงถือว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง ทำให้การออกกฎหมายจะล่าช้าและอาจทำแบบผักชีโรยหน้าเต็มไปหมด อีกทั้งในมาตรา 26 ที่กำหนดว่าการตรากฎหมายที่มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ กรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม ควรระบุเหตุผลการจำกัดสิทธิไว้ในกฎหมายด้วย” นายวรพจน์ กล่าว
นายวรพจน์ กล่าวว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยเฉพาะมาตรา 160(4) ที่ระบุว่าต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้รู้สึกว่าไม่รู้ว่าหมายถึงคนชนิดใด เพราะทุกคนถ้าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรืออาญาผิดมาตรา 157 ไม่มีเหตุบอกว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และที่กำหนดว่าจะต้องเป็นที่ประจักษ์ ถ้าคน ๆ นั้นไม่เคยไปพูดโม้หรือโฆษณาตัวเองจะถือว่าเขาไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
“คำว่าเป็นที่ประจักษ์จะเอาอะไรมาวัด และในมาตรา160(5)บัญญัติ ว่าต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอฝากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ต้องกำหนดให้ชัดว่าพฤติการณ์ลักษณะใดเข้าข่ายผิดจริยธรรมปกติและผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น กรณีการกินของหวานที่แม่ฮ่องสอนถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่” นายวรพจน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย