ญี่ปุ่น-สหรัฐชี้จีนพยายามบั่นทอนระเบียบที่มีกฎเป็นพื้นฐาน

โตเกียว 7 ม.ค.- รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นและสหรัฐแสดงความกังวลร่วมกันเรื่องจีนพยายามบั่นทอนระเบียบที่มีกฎเป็นพื้นฐาน พร้อมกับประกาศจะร่วมมือกันขัดขวางและตอบโต้การกระทำที่สั่นคลอนเสถียรภาพ นายโยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นายโนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมหลังจากประชุมออนไลน์ในวันนี้ ย้ำเรื่องความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน คัดค้านการกระทำตามอำเภอใจที่คุกคามการที่ญี่ปุ่นดูแลหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออก จีนเรียกหมู่เกาะดังกล่าวว่าเตียวหยูและอ้างกรรมสิทธิครอบครองแม้ว่าญี่ปุ่นควบคุมอยู่ นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลอย่างยิ่งเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และฮ่องกงที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐชี้ว่า สหรัฐและญี่ปุ่นจะต้องสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นจากประเทศที่หาทางบั่นทอนระเบียบสากลที่มีกฎเป็นพื้นฐานอย่างจีนและเกาหลีเหนือ ขณะนี้ทั้งสองประเทศได้ริเริ่มข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาที่จะเอื้อให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมมือกันง่ายขึ้นในประเด็นด้านกลาโหม มีตั้งแต่การรับมือกับภัยขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพด้านอวกาศ.-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นคัดค้านจีนส่งเรือ 2 ลำรุกล้ำน่านน้ำหมู่เกาะพิพาท

โตเกียว 8 ก.พ. – ญี่ปุ่นคัดค้านที่จีนส่งเรือยามฝั่ง 2 ลำรุกล้ำน่านน้ำญี่ปุ่นใกล้หมู่เกาะเซนกากุ หรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยู หลังจากรัฐบาลจีนออกกฎหมายเข้มงวดขึ้นต่อการละเมิดอาณาเขตทางทะเลของตน นายคัตสึโนบุ คาโต โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ประท้วงอย่างแข็งขันผ่านช่องทางทางการทูตทั้งในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นและในกรุงปักกิ่งของจีน ในเรื่องที่จีนส่งเรือยามฝั่ง 2 ลำเข้ามาในน่านน้ำญี่ปุ่นใกล้หมู่เกาะเซนกากุเมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องการให้เรือจีนหยุดความพยายามที่จะเข้าใกล้เรือประมงญี่ปุ่นในทันที และออกจากน่านน้ำดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เขายังระบุเพิ่มเติมว่า เรือยามฝั่งของญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณเตือนหลายครั้งให้เรือจีนล่าถอยกลับไป ควบคู่ไปกับการป้องกันความปลอดภัยของเรือประมงญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นจะไม่อดทนกับการกระทำเช่นนี้อีกต่อไป ทั้งนี้ จีนมักส่งเรือยามฝั่งเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาทนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งผู้นำจีน และต้องการทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล นอกเหนือไปจากข้อพิพาททางดินแดนกับญี่ปุ่นแล้ว จีนยังอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ทับซ้อนกับบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามที่อ้างสิทธิบางส่วน ขณะที่ในปีที่ผ่านมาจีนส่งเรือเข้าไปประจำการในน่านน้ำของเกาะเล็กเกาะน้อยต่าง ๆ รวมทั้งหมด 333 วัน ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์. -สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินรบสกัด หลังพบจีนปล่อยโดรนใกล้พื้นที่พิพาท

ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัด หลังพบเรือจีนรุกล้ำน่านน้ำและปล่อยโดรนขึ้นสู่ท้องฟ้าบริเวณพื้นที่พิพาทหมู่เกาะเซนกากุ หรือหมู่เกาะเตียวหยู ในทะเลจีนตะวันออก

...