นวัตกรรมใหม่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อผู้ป่วย
ตรัง 7 พ.ย.63 – กทปส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โชว์การทดสอบประสิทธิภาพ นวัตกรรมฟื้นฟูกล้ามเนื้อช่วยผู้ป่วยสูงอายุกายภาพได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะโรคกลุ่มกระดูกและข้อ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ซึ่งลักษณะของอาการดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาแบบเฉพาะทาง จากข้อมูลพบว่า นักกายภาพบำบัด 1 คน ต้องรักษาผู้ป่วย 23,614 คน ซึ่งประชากรไทยทั้งหมด 72 ล้านคน จะต้องมีนักกายภาพบำบัดถึง 32,180 คน ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอ จึงต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์ รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้สนับสนุนงานวิจัยพัฒนาระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัด ผ่านเครือข่ายสื่อสารสำหรับประโยชน์สาธารณะ โดยคณะวิจัย ได้ดำเนินการพัฒนาระบบและอุปกรณ์กายภาพบำบัดทั้งหมด 4 ชนิด 1. นวัตกรรมบริหารหัวไหล่ เป็นระบบประมวลผลภาพ วัดองศาของการเคลื่อนไหวข้อไหล่ เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อไหล่ติดหัวไหล่ 2. นวัตกรรมฝึกการขยายปอด ระบบประมวลผลภาพ สำหรับติดตามการทำกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูปริมาตรปอด 3. นวัตกรรมบริหารกล้ามเนื้อหายใจ ระบบติดตาม ช่วยบริหาร พร้อมทั้งวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจ และ 4. นวัตกรรมบริหารข้อเข่า ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยบริหารข้อเข่า การออกกำลังกายแบบไอโซโทนิก ที่เน้นการยืดเหยียดเข่าโดยมีตุ้มน้ำหนักรัดบริเวณข้อเท้า เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเซิร์ฟเวอร์ และคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ ผ่านเครือข่ายสื่อสาร ซึ่งเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูล ที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ผลการทำกายภาพบำบัดจากอุปรณ์ทำกายภาพบำบัดที่พัฒนาขึ้น โดยจะนำไปติดตั้งใช้งานจริงตามโรงพยาบาลและศูนย์ส่งเสริมสุขภาพในรอบพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยกายภาพบำบัด ผ่านเครือข่ายสื่อสารสำหรับประโยชน์สาธารณะ โดยใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์มาวิเคราะห์และวินิจฉัย เชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายสื่อสาร ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัดสามารถนำข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์เพื่อมาวิเคราะห์และวินิจฉัยต่อไปได้ นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลของโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ยังสามารถดึงตรวจสอบข้อมูลของผู้ป่วยจากศูนย์ข้อมูลส่วนกลางได้อีกด้วย ดังนั้นข้อมูลการทำกายถาพบำบัดของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ หรือการส่งเสริมสุขภาพของผุ้สูงอายุ ก็จะเป็นประโยชน์ที่สำคัญให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัดในการออกแบบการรักษาต่อไปได้ ซึ่งผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดยังได้เห็นพัฒนาการการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้มีขวัญกำลังใจและมีความพยายามในการทำกายภาพบำบัดให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการได้ นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า กทปส. เห็นถึงโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ ที่เอื้อต่อการรักษาและการดูแลผู้ป่วยได้โดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผู้สูงอายุ ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือไม่สะดวกที่จะเดินทางมายังโรงพยาบาลสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยการใช้เทคโนโลยีผ่านระบบสื่อสารได้ เพื่อลดภาระงานของนักกายภาพบำบัด อีกทั้งยังสามารถติดตามช่วยเหลือผู้ทำกายภาพบำบัด และผู้สูงอายุ โดยที่ผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพบำบัดที่ถูกต้องด้วยตนเอง หรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพใกล้บ้าน รวมทั้งยังเห็นถึงความก้าวหน้า นำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทางไกลมาใช้ประโยชน์ในการรักษา ด้วยระบบ Telemedicine ให้ผู้ป่วยและแพทย์ติดตามอาการ ปนะนำการรักษาผ่านอุปกรณ์การสื่อสาร ลดการเดินทาง ลดโอกาสปะปนคนหมู่มาก ลดโอกาสการระบาดของโรค ที่พร้อมขยายผลการใช้งานสู่พื้นที่ห่างไกลต่อไป ซึ่งทั้งหมดผ่านการจัดสรรงบประมาณแก่นักวิจัย โดย กทปส. พร้อมพิจารณาให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ นวัตกรร และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทุกภาคส่วนของไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน