สานต่อภารกิจร้องกกต.-ป.ป.ช.ฟันก้าวไกล

สานต่อภารกิจร้องกกต.-ป.ป.ช.ฟันก้าวไกล
สำนักงานกกต. 1 ก.พ.-“ธีรยุทธ” ร้องกกต.ส่งศาล รธน.ยุบก้าวไกล บอกคำวินิจฉัยผูกพันเพราะเป็นคนร้องตั้งแต่แรก ไม่หวั่นสร้างขัดแย้ง พรุ่งนี้ไปป.ป.ช.ต่อ จี้ฟันจริยธรรม “พิธา-44 สส.” ยื่นแก้ม.112
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครอง มายื่นคำร้องต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และกกต.เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวานนี้(31 ม.ค.)
นายธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองคือ นายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคำวินิจฉัยนี้มีผลผูกพันกกต.ด้วย เนื่องจากตนเป็นคนหลักที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว จึงมองว่าเป็นเรื่องผูกพันที่ตนจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อกกต.พร้อมเอกสารกว่า 100 หน้ามายื่นกกต.เพื่อบังคับกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเอง
“ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง โดย ( 1 ) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นตนเห็นว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุคพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1” นายธีรยุทธ กล่าว
เมื่อถามถึงจุดประสงค์ที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดเส้นทางให้ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลหรือเพียงต้องการให้ยุติการกระทำ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เบื้องต้นที่ยื่นคำร้องต่อศาล คิดว่าขอให้ศาลเมตตาพิจารณาสั่งการเพื่อให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนอ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียด เห็นว่าเมื่อศาลได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้ว ขณะที่ตนเองอยู่ในฐานะผู้ร้อง เห็นว่า มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยตรง จึงต้องดำเนินการตามกระบวนการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย จึงทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ผู้ใดทราบเหตุให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง วันนี้จึงมายื่นต่อกกต.
เมื่อถามย้ำว่าหากอนาคตกกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวานนี้(31 ม.ค.) เป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศ เมื่อพรรคก้าวไกลหรือสมาชิกพรรคหรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่ต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหลักการนี้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว การจะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไร เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึง
ส่วนที่นักวิชาการบางคนมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทั้งในและนอกสภาฯ นายธีรยุทธ กล่าวว่า แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ได้แต่บอกว่าขอให้กลับไปฟังให้หลาย ๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายห้วงก่อนจะจบ ศาลบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบคือต้องเป็นฉันทามติ
“แต่คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 ศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้นอย่างอื่นมีนัยสำคัญ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบ ผมคิดว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหลักนิติ อีกทั้งก่อนจะทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ทราบจากเนื้อหาคำวินิจฉัยว่าได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของผมถึง 62 ครั้ง ซึ่งถือว่าจำนวนมาก แสดงว่าศาลพิจารณาโดยละเอียด รอบด้าน มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรมหรือศาลยุติธรรมก็ส่งเข้ามา ศาลท่านหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยละเอียด” นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ กล่าวว่า พรุ่งนี้ (2 ก.พ. ) เวลา 10.00 น. จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44 คนที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่าผลจะออกมาเหมือนกับกรณีน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาพิจารณาไม่นาน.-314.-สำนักข่าวไทย

...