วช. จับมือ คพ. สู้ปัญหาฝุ่น PM2.5

กทม. 27 ส.ค.63 – สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จับมือ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมมือศึกษาวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และเครือข่ายความร่วมมือ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการศึกษาวิจัยด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งงานวิจัยด้านป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และแสดงความมุ่งมั่นที่สนับสนุนแผนงานวิจัย ในชุดโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประเทศไทย นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งประเทศไทยช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี จะประสบปัญหาฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการวิจัยนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะยกระดับมาตรการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจในการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน สำหรับชุดโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทยอย่างบูรณาการเชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ 1.การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 2.การประเมินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ3.การศึกษาเพื่อนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นายประลอง ดํารงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะจะทำให้เกิดการรับฟังความเห็นของทั้ง 2 หน่วยงาน มีการประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติและอื่นๆ นำมาตรการสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะต่อไป สิ่งสำคัญเป็นการ เชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการใช้แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  บนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วนงานภาครัฐกับสถาบันการศึกษา 5 แห่ง รวม 4 แผนงาน 8 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เบื้องต้นจะนำร่องศึกษาการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งกำเนิด PM 2.5 ภาคการขนส่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่า จะเห็นผลภายใน 6 เดือน .-สำนักข่าวไทย

...