จีนพบฟอสซิล “ปีศาจแห่งทะเล” ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ใกล้ยอดเขาสูงสุดในโลก
ลาซา, 23 พ.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนค้นพบซากฟอสซิล “หิมาลายาซอรัส” (Himalayasaurus) สัตว์นักล่าใต้ทะเลลึกยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 2 รายการ บริเวณพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,000 เมตร ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานระบุว่ามีการค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสใกล้กับตำบลกังกาของอำเภอติ้งรื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากเบสแคมป์ภูเขาโชโมลังมาราว 100 กิโลเมตร โดยการค้นพบนี้จะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต และส่งเสริมการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคระหว่างมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) หิมาลายาซอรัสถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานสูญพันธุ์ที่เคยครอบครองท้องทะเลเมื่อ 210 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไดโนเสาร์จะครอบครองผืนดิน โดยหิมาลายาซอรัสมีปากยาว ฟันแหลมคม และลำตัวยาวมากกว่า 10 เมตร จัดเป็นนักว่ายน้ำตัวฉกาจที่กินปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นหลัก คณะนักวิจัยของจีนเคยค้นพบซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างการสำรวจพื้นที่ภูเขาโชโมลังมา ซึ่งยกตัวขึ้นจากทะเลลึกเพราะการชนกันของแผ่นเปลือกโลก และกลายเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกวันนี้ ส่วนการค้นพบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้โดยทีมสำรวจอันประกอบด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งกำลังมุ่งวิจัยขนาด พฤติกรรม และถิ่นที่อยู่ของหิมาลายาซอรัสในปัจจุบัน หวังเวย นักวิจัยร่วมของสถาบัน ระบุว่าฟอสซิลเหล่านี้ประกอบด้วยกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงสภาพดีที่หาได้ยากในการค้นพบก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัดขวางของกระดูกมนุษย์มีขนาดเท่าเหรียญ แต่ส่วนตัดขวางของกระดูกสันหลังที่เพิ่งค้นพบมีขนาดราวหมวกเบสบอล คณะนักวิจัยวางแผนแกะซากฟอสซิลหิมาลายาซอรัสออกจากก้อนหินที่ล้อมรอบ และตรวจสอบซากฟอสซิลเหล่านี้อย่างละเอียดด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์และการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) […]