กมธ.ร่างกม.ป้องกันทรมานเร่งพิจารณากม.เสร็จต้นพย.

รัฐสภา 25 ต.ค. -กมธ.ร่างพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน ยืนยันจะตั้งใจพิจารณา กม. คาดแล้วเสร็จต้น พ.ย.นี้ ด้าน “ศิริภา”รำลึก 17 ปีเหตุการณ์ตากใบ ชี้ความไว้วางใจจากประชาชนจะกลับมาได้ กฎหมายต้องได้รับการปรับปรุง
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยย้ำว่า กรรมาธิการฯ ตั้งใจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประชาชน ให้ได้รับความเห็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน และให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทย ได้ลองนามกับต่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า กรรมาธิการฯ จากทุกพรรคการเมือง จะมุ่งมั่นใจการพิจารณา และกรรมาธิการฯ จะพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนการพิจารณาของกรรมาธิการฯ จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้ตามกรอบระยะเวลาหรือไม่นั้น นายชวลิต ระบุว่า กรรมาธิการฯ ได้เพิ่มกรอบเวลาการประชุม เพื่อให้สามารถพิจารณาได้ทันกำหนด แต่หัวใจการพิจารณาสำคัญ กรรมาธิการฯ จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูล และรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยคาดว่า การพิจารณาร่างกฎหมาย จะแล้วเสร็จอย่างช้า ในช่วงต้อนเดือนพฤศจิกายนนี้
ด้านน.ส.ศิริภา อินทวิเชียร กมธ. ได้ออกมาย้อนความถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือ 17 ปีที่แล้ว ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความไม่ไว้วางใจของรัฐที่มีต่อประชาชน นำไปสู่ความสูญเสียที่ยากจะลืม ผ่านการบังคับใช้กฎหมายภายใต้อำนาจอันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ควรจะเป็น
ดังนั้น นอกเหนือความรับผิดชอบทางด้านคดีความที่ยังไม่มีข้อสรุปในด้านการคืนความเป็นธรรมต่อผู้สูญเสียแล้ว การปรับปรุงด้านกฎหมายให้ตรงกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวขึ้นมาอีก จึงควรต้องเร่งพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และกล้าที่จะสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐอย่างเป็นธรรม เพื่อนำความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐกลับคืนมา.

กสม.หนุนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ

กสม.หนุนรัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายตามหลักการสากล เสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว-วางกลไกตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิด

...