นายกฯ ศรีลังการับประเทศตกอยู่ในสถานะล้มละลาย

โคลัมโบ 5 ก.ค. – นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงหะ ของศรีลังกา ยอมรับว่า ศรีลังกาตกอยู่ในสถานะล้มละลายและจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย นายกรัฐมนตรีวิกรามาสิงหะกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาศรีลังกาวันนี้ว่า ศรีลังกาจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักในปีนี้ รวมถึงปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และยารักษาโรค เขายอมรับว่าปัญหาเหล่านี้จะยืดเยื้อต่อไปจนถึงปีหน้า ส่วนแผนเจรจาเรื่องกู้ยืมเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ขึ้นอยู่กับการสรุปแผนปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในเดือนสิงหาคม โดยที่ศรีลังกาจะทำเรื่องกู้ยืมเงินในฐานะประเทศที่มีสถานะล้มละลาย นายกรัฐมนตรีวิกรามาสิงหะเผยว่า ศรีลังกายังคงตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เนื่องจากธนาคารกลางของศรีลังกาคาดการณ์ว่า ศรีลังกาอาจเผชิญกับภาวะหดตัวด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 4-5 ในปีนี้ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 60 ในช่วงสิ้นปีนี้ ผู้นำศรีลังกายังระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากที่บรรลุข้อตกลงระดับเจ้าหน้าที่กับไอเอ็มเอฟ ศรีลังกาได้ตั้งเป้าเปิดประชุมเพื่อรับเงินบริจาคจากประเทศที่เป็นมิตร เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เพื่อใช้ค้ำประกันเงินกู้ผ่านข้อตกลงร่วม. -สำนักข่าวไทย

นายกฯ ศรีลังกาเผยเหลือน้ำมันสำรองใช้อีกแค่วันเดียว

โคลอมโบ 17 พ.ค. – นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงหะ ของศรีลังกา เผยว่า ศรีลังกามีน้ำมันสำรองเหลือใช้อีกแค่ 1 วันเท่านั้น ในขณะที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี นายกรัฐมนตรีวิกรามาสิงหะ วัย 73 ปี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม แถลงผ่านโทรทัศน์ในวันนี้ว่า ตอนนี้ศรีลังกาเหลือน้ำมันสำรองใช้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น แต่การนำเข้าน้ำมันเบนซินและดีเซลด้วยวงเงินสินเชื่อกับอินเดียจะทำให้จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นอกจากนี้ ศรีลังกายังต้องการเงินตราต่างประเทศโดยด่วน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,600 ล้านบาท) เพื่อนำไปชำระค่านำเข้าสินค้าจำเป็นในอีกไม่กี่วันเช่นกัน นายกรัฐมนตรีวิกรามาสิงหะยังระบุว่า เขาจำเป็นต้องขอให้ธนาคารกลางของศรีลังกาพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานของรัฐและนำไปใช้จ่ายสินค้าและบริการที่จำเป็น แต่การทำเช่นนี้จะทำให้สกุลเงินรูปีศรีลังกาอ่อนค่าลง นอกจากนี้ เขายังเสนอแผนขายสายการบินศรีลังกา แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของศรีลังกา เพื่อพยุงฐานะด้านการเงินของประเทศ เนื่องจากศรีลังกา แอร์ไลน์ ประสบปัญหาขาดทุนราว 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,500 ล้านบาท) ในปีการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ศรีลังกาต้องเผชิญกับเหตุประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีโกตาบายา […]

...