ม. ฮ่องกงบังคับเรียนวิชา กม. ความมั่นคงจีนก่อนเรียนจบ

ฮ่องกง 26 ก.ค. – มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะต้องลงเรียนวิชากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลจีนก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของจีนในฮ่องกง โฆษกของมหาวิทยาลัยฮ่องกง เผยว่า นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยฮ่องกงจะต้องลงเรียนวิชากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลจีนที่มีชื่อว่า ‘กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเบื้องต้น และกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นคอร์สเรียนผ่านระบบออนไลน์ ก่อนสำเร็จการศึกษา ขณะที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุในแถลงการณ์ว่า วิชาดังกล่าวเป็นการเรียนด้วยตนเอง นักศึกษาแต่ละคนสามารถลงทะเบียนเรียนวิชานี้ในภาคการศึกษาใดก็ได้จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ แม้วิชาดังกล่าวจะไม่มีหน่วยกิต แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความพยายามที่จะอธิบายกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่ตกเป็นข้อถกเถียง และบทลงโทษจากการกระทำความผิดไปยังกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในฮ่องกงเมื่อปี 2562 สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐ รายงานว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลจีนที่ประกาศใช้ในฮ่องกงเป็นการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายค้านและทำให้สื่อฮ่องกงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยต้องปิดตัวลง โดยที่กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า การกระทำที่เป็นการโค่นล้มรัฐบาล การแบ่งแยกดินแดน การสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างประเทศ และกิจกรรมก่อการร้าย เป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในฮ่องกงที่กำหนดให้นักศึกษาต้องเรียนวิชาดังกล่าวก่อนสำเร็จการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง และมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง.-สำนักข่าวไทย

ผลวิจัยฮ่องกงชี้โควิดทำให้อสุจิ-ความต้องการทางเพศลดลง

ฮ่องกง 23 ก.พ. – ผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยฮ่องกงชี้ว่า โรคโควิด-19 อาจทำให้จำนวนเชื้ออสุจิและความต้องการทางเพศลดลง แต่ระบุว่าการฉีดวัคซีนโควิดจะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ คณะนักวิจัยภาคจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอัณฑะและฮอร์โมนของหนูแฮมสเตอร์ตัวผู้ที่ติดเชื้อโควิด โดยที่ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า หนูแฮมสเตอร์มีจำนวนอสุจิและฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ทางเพศลดลง รวมถึงมีแนวโน้มเกิดภาวะอัณฑะฝ่อตัวที่ทำให้อัณฑะมีขนาดเล็กกว่าปกติ ขณะที่ศาสตราจารย์หยวน กว๊อก-หยุง ประธานภาควิชาโรคติดเชื้อ คณะจุลชีววิทยา ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า ผู้ชายที่หายป่วยจากโรคโควิดควรตระหนักถึงภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำที่ทำให้ร่างกายผลิตอสุจิและมีความต้องการทางเพศลดลง ก่อนหน้านี้ มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติหลายชิ้นที่ระบุว่า ผู้ป่วยโควิดเพศชายมีอาการปวดอัณฑะ อสุจิเคลื่อนที่ช้าลง และมีจำนวนอสุจิลดลงหลังจากที่หายป่วย นอกจากนี้ ผลชันสูตรศพชายที่เสียชีวิตจากโรคโควิดยังแสดงให้เห็นว่า ศพเหล่านี้มีภาวะอัณฑะอักเสบที่อัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง.-สำนักข่าวไทย

ม.ฮ่องกงรื้อรูปปั้นรำลึกเทียนอันเหมินที่ตั้งมากว่า 20 ปี

ฮ่องกง 23 ธ.ค.- มหาวิทยาลัยฮ่องกงหรือเอชเคยู (HKU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และชั้นนำของฮ่องกงรื้อถอนประติมากรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนในปี 2532 หลังจากตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 สภาเอชเคยูแถลงในเช้าวันนี้ว่า ตัดสินใจเรื่องนี้ในการประชุมเมื่อวันพุธ ตามที่ได้รับคำแนะนำทางกฎหมายจากภายนอกและการประเมินความเสี่ยงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมหาวิทยาลัย สภาขอให้เก็บประติมากรรมดังกล่าวไว้ในโรงเก็บ และจะขอคำแนะนำทางกฎหมายเพื่อดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป สภาเอชเคยูระบุด้วยว่า ไม่เคยมีใครขออนุญาตนำรูปปั้นนี้มาตั้งในมหาวิทยาลัย ทางสภาจึงมีสิทธิที่จะดำเนินการอย่างเหมาะสมได้ทุกเมื่อ อีกทั้งรูปปั้นนี้มีความบอบบาง เสี่ยงเป็นอันตรายได้ มีข่าวว่า สภาได้ส่งคำร้องทางกฎหมายไปยังผู้ดูแลเมื่อหลายเดือนก่อนเรื่องขอรื้อรูปปั้น  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ รปภ.นำเส้นกั้นสีเหลืองมาล้อมรอบประติมากรรมทองแดงดังกล่าวที่มีความสูง 8 เมตร หนัก 2 ตันตั้งแต่กลางดึกวันพุธ จากนั้นกลุ่มคนงานนำแผ่นพลาสติกสีขาวมาหุ้มรูปปั้นทั้งหมด ก่อนใช้เครนยกรูปปั้นไปไว้ในตู้คอนเทนเนอร์บนรถบรรทุกและขับออกไปในเช้าวันนี้ โดยนำแผ่นพลาสติกไปคลุมส่วนที่เคยเป็นที่ตั้งของรูปปั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้นำกระถางต้นพอยน์เซตเทียที่นิยมใช้ตกแต่งช่วงคริสต์มาสมาวางรอบด้านนอกเส้นกั้นสีเหลือง ด้านนายเยนส์ แกลส์ชุต ศิลปินชาวเดนมาร์ก วัย 67 ปี ผู้สร้างประติมากรรมนี้แถลงแสดงความตกใจอย่างยิ่ง และจะเรียกร้องเงินชดเชยหากทรัพย์สินส่วนตัวนี้ได้รับความเสียหาย เขาเคยเสนอเมื่อกลางเดือนว่าจะนำผลงานของตนเองกลับเดนมาร์ก โดยตีราคาผลงานไว้ที่ 1 ล้าน 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47 ล้านบาท) นายแกลส์ชุตสร้างประติมากรรมนี้ในฮ่องกงในปี 2540 โดยตั้งชื่อว่า Pillar of Shame […]

ฮ่องกงแยกเชื้อโควิดโอไมครอนสำเร็จที่แรกในเอเชีย

ฮ่องกง 1 ธ.ค. – นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงประสบความสำเร็จจากการแยกเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในขั้นตอนเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางคลินิกเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะช่วยในการพัฒนาวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อดังกล่าวได้ในอนาคต มหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารว่า นักวิจัยของภาควิชาจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงประสบความสำเร็จจากการแยกเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในขั้นตอนเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางคลินิกที่สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาและผลิตวัคซีนต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล ขณะนี้ คณะนักวิจัยกำลังนำเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไปศึกษาในด้านการแพร่กระจาย ความสามารถในการหลี่กเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และความสามารถก่อโรคด้วยการทดลองในสัตว์ มหาวิทยาลัยฮ่องกงยังระบุว่า คณะนักวิจัยกำลังศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาและผลิตวัคซีนต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอย่างเร่งด่วนด้วยเทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตาย ทั้งนี้ คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงประสบความสำเร็จจากการแยกเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ในช่วงค่ำวันจันทร์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 วันหลังฮ่องกงพบผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าว 2 รายแรกในวันที่ 25 พฤศจิกายน และเป็นเวลา 5 วันหลังจากแอฟริกาใต้แจ้งต่อองค์การอนามัยโลกว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายน.-สำนักข่าวไทย

เผยวัคซีนไบโอเอนเทคสร้างแอนติบอดีได้มากกว่าซิโนแวก

ฮ่องกง 16 ก.ค. – ผลการวิจัยของฮ่องกงระบุว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของไบโอเอนเทคที่พัฒนาร่วมกับไฟเซอร์มีปริมาณแอนติบอดีมากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนของซิโนแวกถึง 10 เท่า ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ทำการศึกษาในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1,442 คนและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบเมื่อวานนี้ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดของซิโนแวกมีปริมาณแอนติบอดี ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิต้านทานของคน ในระดับใกล้เคียงหรือน้อยกว่าในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อและรักษาหายจากโรคโควิดแล้ว ทั้งยังมีหลักฐานเพิ่มเติมที่ชี้ว่า วัคซีนชนิด mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ เช่น วัคซีนของไบโอเอนเทคและโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาและเชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้ดีกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม เช่น วัคซีนที่ใช้เชื้อตายของไวรัส อย่างไรก็ดี วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยและง่ายต่อการเก็บรักษาหรือขนส่ง ทำให้เหมาะแก่การนำไปใช้ควบคุมการระบาดในกลุ่มประเทศที่ไม่ร่ำรวย คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุในรายงานดังกล่าวว่า แอนติบอดีไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียวถึงความสำเร็จของวัคซีนในการป้องกันโรคบางชนิด แต่ความแตกต่างของปริมาณแอนติบอดีที่พบในผลการวิจัยครั้งนี้สามารถตีความได้ถึงความแตกต่างอย่างมากในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิด อย่างไรก็ดี เบน โคว์ลิง นักระบาดวิทยาและหนึ่งในคณะผู้เขียนผลการวิจัยดังกล่าวแนะนำว่า ผู้คนทั่วไปควรเข้ารับการฉีดวัคซีนของซิโนแวก หากไม่มีตัวเลือกอื่น เพราะการได้รับการป้องกันบ้างย่อมดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย. -สำนักข่าวไทย

...