จีนวางแผนใช้ระบบป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

ปักกิ่ง 25 เม.ย.-จีนวางแผนพัฒนาระบบเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยที่เป็นภัยคุกคามต่อโลกเพื่อป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก โดยคาดว่าจะส่งยานอวกาศขึ้นไปสกัดดาวเคราะห์น้อยได้ในปี 2568 หรือ 2569 เพื่อศึกษาและเปลี่ยนวงโคจรของดาวเหล่านี้ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างบทสัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของนายหวู่ หยานหัว รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติของจีนว่า จีนกำลังศึกษาหาวิธีกำจัดดาวเคราะห์น้อยที่เป็นภัยคุกคามต่อโลก และคาดว่าจะทดสอบระบบป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกด้วยการส่งยานอวกาศขึ้นไปสกัดดาวเคราะห์น้อยได้ในปี 2568 หรือ 2569 เพื่อศึกษาและเปลี่ยนวงโคจรของดาวเหล่านี้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเปลี่ยนวงโคจร ขณะนี้ จีนได้เดินหน้าแผนการเกี่ยวกับโครงการด้านอวกาศจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายหวู่ยังระบุว่า จีนได้ลงนามในข้อตกลงกับรัสเซียเมื่อเดือนมกราคมเพื่อสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ร่วมกัน ส่วนเมื่อปีที่แล้วภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนได้เดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยพร้อมด้วยตัวอย่างวัตถุที่เก็บมาจากดวงจันทร์ อย่างไรก็ดี โครงการด้านอวกาศที่ก้าวหน้าของจีนได้ทำให้ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐตึงเครียดมากขึ้น โดยที่จีนเคยกล่าวหาว่า ฝูงดาวเทียมของบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน มีวงโคจรเข้าใกล้สถานีอวกาศของจีนจนทำให้จีนต้องปรับตำแหน่งของสถานีอวกาศเพื่อหลบการชนกับฝูงดาวเทียมดังกล่าว ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า จีนกับรัสเซียยังคงพยายามใช้อาวุธโจมตีฝูงดาวเทียมของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา ได้ติดตั้งระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้องโทรทรรศน์ไว้ที่รัฐฮาวายของสหรัฐ ชิลี และแอฟริกาใต้ และเพิ่งได้รับการปรับปรุงระบบใหม่ในช่วงต้นปีนี้เพื่อให้สามารถตรวจสอบท้องฟ้าสำเร็จทุก ๆ 24 ชั่วโมง. -สำนักข่าวไทย

นาซาทดสอบส่งยานอวกาศชนดาวเคราะห์น้อยป้องกันโลก

ลอสแอนเจลีส 24 พ.ย. – องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา ได้ทดสอบการปล่อยยานอวกาศที่มีเป้าหมายพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นการสาธิตภารกิจป้องกันโลกครั้งแรกของนาซาเพื่อปกป้องโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนในอนาคต นาซาเผยว่า ได้ปล่อยยานอวกาศชื่อ ‘ดาร์ต’ (DART) ซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเท่ากับรถยนต์ขนาดเล็ก ขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อเวลา 01.21 น. ตามเวลาในสหรัฐจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศแวนเดนเบิร์กที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลอลแอนเจลีสในรัฐแคลิฟอร์เนียไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 150 กิโลเมตร ยานดังกล่าวจะปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 10 เดือนในการเดินทางไปในห้วงอวกาศที่อยู่ห่างจากโลกราว 11 ล้านกิโลเมตร เพื่อทดสอบความสามารถในการเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยด้วยแรงเสียดทานจลน์ ซึ่งคือพลังงานที่เกิดกับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ และเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยไม่ให้พุ่งชนโลก เป้าหมายของยานอวกาศดาร์ตในครั้งนี้ คือ ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส ซึ่งเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กและมีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอลที่โคจรรอบหินอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าถึง 5 เท่าในระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ ทั้งนี้ การปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายและยานอวกาศก็มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอุกกาบาตชิกซูลุบที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์หลายรายให้ความเห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กนั้นเป็นภัยต่อโลกมากกว่าในอนาคตอันใกล้และพบได้บ่อยครั้งกว่าอุกกาบาตขนาดใหญ่.-สำนักข่าวไทย

เสี่ยงดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

สดร. 30 ต.ค. 63 – นักดาราศาสตร์ คาดการณ์เส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส อาจชนโลกในอีก 48 ปี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยข้อมูลจากการรายงานของนักดาราศาสตร์ที่กำลังจับตามอง “ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกในช่วงหนึ่งร้อยปีต่อจากนี้  โดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ระบุว่า วงโคจรของอะโพฟิสมีความเปลี่ยนแปลงและอาจพุ่งชนโลกประมาณวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2611 หรืออีก 48 ปีข้างหน้า Dave Tholen นักดาราศาสตร์ประจำสถาบันดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ผู้ติดตามดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสมากว่า 16 ปี อธิบายถึงผลการสำรวจล่าสุดว่า การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกิดจากการดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์เรียกว่า ยาคอฟสกีเอฟเฟค (Yarkovsky effect) ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสจากเดิมที่คำนวณไว้ปีละ 170 เมตร ซึ่งมากพอที่อาจจะมีโอกาสพุ่งชนโลกในปี พ.ศ. 2611  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โอกาสการเกิดขึ้นมากที่สุดตาม Sentry Risk Table ขององค์การนาซา คือ 1 ใน 150,000 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.00067 ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ได้ติดตามดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสอย่างต่อเนื่อง ติดตามข้อมูลล่าสุดและคำนวณเส้นทางอย่างระมัดระวัง ซึ่งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ซูบารุในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ช่วยให้วัดตำแหน่งของอะโพฟิสได้อย่างแม่นยำ และสามารถประมาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสได้ 370 เมตร  สำหรับการเข้าใกล้โลกมากที่สุดครั้งถัดไป คือวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2572  ซึ่งอาจทำให้สามารถมองเห็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า นักดาราศาสตร์ต่างเฝ้ารอการเข้าใกล้ครั้งนี้เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ข้อมูลของวงโคจรที่แม่นยำ ผลของแรงโน้มถ่วงและแสงอาทิตย์ที่มีผลกับวงโคจรของอะโฟฟิส ทั้งนี้ดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2547 โดยหอดูดาวแห่งชาติคิตพีค (Kitt Peak National Observatory) หากการพุ่งชนเกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงระเบิดที่เทียบเท่ากับระเบิด TNT จำนวน 880 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นหายนะของโลกได้

...