นายกฯ ปาเลสไตน์ลาออก

รามัลเลาะห์ 26 ก.พ.- นายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด ชเตย์เยห์ของปาเลสไตน์ แจ้งวันนี้ว่า ขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการจัดการทางการเมืองตามฉันทามติของชาวปาเลสไตน์ หลังจากอิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในกาซา นายชเตย์เยห์ วัย 66 ปี เป็นนักวิชาการที่มาดำรงตำแหน่งในปี 2562 เขาแถลงต่อคณะรัฐมนตรีว่า การจัดการด้านรัฐบาลและการเมืองในก้าวถัดไปจะต้องคำนึงถึงความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในกาซา การเจรจาเพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติ และความจำเป็นเร่งด่วนเรื่องสร้างฉันทามติระหว่างชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังต้องขยายอำนาจขององค์การบริหารปาเลสไตน์เหนือดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดด้วย การประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์มีขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังกดดันประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาสของปาเลสไตน์ให้ปรับเปลี่ยนการบริหารภายองค์การบริหารปาเลสไตน์ เนื่องจากประชาคมโลกต้องการยุติสงครามในกาซาและเริ่มวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองในการปกครองกาซาหลังสิ้นสุดสงคราม การลาออกของนายชเตย์เยห์จะมีผลต่อเมื่อประธานาธิบดีอับบาสเห็นชอบ ซึ่งนายอับบาสอาจจะขอให้เขาทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ องค์การบริหารปาเลสไตน์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อนตามข้อตกลงสันติภาพออสโล มีอำนาจปกครองอย่างจำกัดเหนือเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง และเสียการปกครองกาซาให้แก่กลุ่มฮามาสในปี 2550 กลุ่มฟาตาห์ที่มีอำนาจในองค์การบริหารปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสมีกำหนดพบกันที่กรุงมอสโกของรัสเซียในวันพุธนี้ เพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงเรื่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แกนนำฮามาสเผยว่า หากตกลงได้แล้วจะต้องมีข้อตกลงเรื่องการปกครองชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดเป็นลำดับต่อไป.-814.-สำนักข่าวไทย

ทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ไปพบผู้นำเมียนมา

เนปิดอว์ 11 ม.ค.-สื่อทางการเมียนมารายงานวันนี้ว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้ให้การต้อนรับทูตพิเศษอาเซียนคนใหม่ และหารือเรื่องความพยายามของเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของประเทศ หนังสือพิมพ์โกลบอลไลท์ออฟเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ประธานประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้การต้อนรับนายอาลุนแก้ว กิตติคุน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของ สปป.ลาวในฐานะทูตพิเศษอาซียนคนใหม่ เนื่องจาก สปป.ลาวรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้  ทั้ง 2 ได้หารือเรื่องความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างหลักประกันให้แก่สันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมาและความปรองดองแห่งชาติ ผู้นำเมียนมากล่าวว่า รัฐบาลกำลังปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียนที่ปรับให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของสภาบริหารแห่งรัฐ เมียนมาเกิดเหตุรุนแรงอย่างไม่หยุดหย่อน นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และแทบไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติที่อาเซียนและเมียนมาตกลงกันในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ล่าสุดสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มพร้อมใจกันโจมตีกองทัพด้วยการยึดที่ตั้งทางทหารและเมืองการค้าสำคัญบริเวณพรมแดนติดกับจีน.-814.-สำนักข่าวไทย

ฟิลิปปินส์เผยพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี 2569 แทนเมียนมา

จาการ์ตา 5 ก.ย.- ฟิลิปปินส์เผยว่า พร้อมเป็นประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนปี 2569 แทนเมียนมาที่มีกำหนดเป็นประธานในปีนั้น ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์กล่าวต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียในวันนี้ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งว่าฟิลิปปินส์พร้อมทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2569 แต่ไม่ได้ระบุเหตุผล ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รากฐานของอาเซียนที่สร้างขึ้นและนำทางโดยอาเซียนในช่วงที่อาเซียนก้าวเข้าสู่บทใหม่ นักการทูตอาเซียน 2 คนที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเผยว่า ความเคลื่อนไหวของฟิลิปปินส์ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียน เพื่อไม่ให้วิกฤตในเมียนมาขัดขวางวาระงานของอาเซียน และเพื่อป้องกันหุ้นส่วนนอกกลุ่มเดินทางไปประชุมในเมียนมา เรื่องนี้มีการตัดสินใจแล้ว และมีการประกาศต่อที่ประชุมผู้นำโดยไม่มีเสียงคัดค้าน อาเซียนเป็นฝ่ายส่งสารถามฟิลิปปินส์ว่ายินดีทำหน้าที่ประธานในปีดังกล่าวหรือไม่ และฟิลิปปินส์ตอบรับ การตัดสินใจเปลี่ยนประเทศที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2569 มีขึ้นหลังจากที่ประชุมผู้นำได้ประเมินความคืบหน้าของฉันทามติ 5 ประการที่ตกลงกันในปี 2564 และเมียนมาเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม สมาชิกอาเซียนหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานประจำปีตามลำดับตัวอักษร ปีปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย ถัดไปปี 2567 คือ สปป.ลาว และปี 2568 คือมาเลเซีย.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำอินโดฯ ยอมรับแผนสันติภาพเมียนมาไม่คืบหน้า

ลาบวน บาโจ 11 พ.ค.- ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียยอมรับว่า อาเซียนไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเรื่องการปฏิบัติตามแผนสันติภาพเพื่อยุติเหตุนองเลือดในเมียนมา ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่เมืองลาบวน บาโจบนเกาะฟลอเรสเป็นเวลา 3 วันว่า อาเซียนจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพเพื่อเดินหน้าในเรื่องนี้ แหล่งข่าวทางการทูตเผยกับเอเอฟพีเมื่อวันพุธว่า สมาชิกบางประเทศในที่ประชุมสุดยอดเสนอแนะให้อาเซียนเชิญตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงอีกครั้ง หลังจากห้ามเข้าร่วมเพราะเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการที่เมียนมาเห็นพ้องกับอาเซียนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 สองเดือนหลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน อีกทั้งรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ยอมเจรจากับฝ่ายต่อต้าน แม้อาเซียนดำเนินความพยายามหลายครั้ง เอเอฟพีรายงานว่า ร่างแถลงการณ์ปิดการประชุมฉบับล่าสุดยังคงเว้นว่างย่อหน้าที่เกี่ยวกับเมียนมา สะท้อนว่าที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย

อาเซียนเรียกร้องเมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ประการ

จาการ์ตา 4 ก.พ.- รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ประการ เพื่อสร้างหนทางยุติวิกฤตการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กองทัพรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน รัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 2 วันที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียในวันนี้ โดยไม่ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วม นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประเทศประธานอาเซียนประจำปี 2566 แถลงกับสื่อว่า อินโดนีเซียได้เสนอแผนปฏิบัติการสำหรับฉันทามติที่อาเซียนบรรลุกับเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน 2564 เรื่องยุติความรุนแรงและเปิดการเจรจาระหว่างกองทัพกับฝ่ายต่อต้าน แผนนี้ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในที่ประชุมทุกประเทศอย่างกว้างขวาง เป็นแผนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำคัญสำหรับอาเซียน โดยเฉพาะประธานอาเซียน เพราะเป็นแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวอันแข็งแกร่งของอาเซียนที่จะปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียไม่ได้ให้รายละเอียดว่า จะดำเนินการตามแผนเมื่อใดและอย่างไร ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียประกาศว่า จะตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษขึ้นภายในกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเปิดการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่กับเมียนมา.-สำนักข่าวไทย

นายกฯ สั่งยกระดับรายได้แรงงานไทย ย้ำขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นฉันทามติร่วม

“ธนกร” แจงนายกฯ สั่งยกระดับรายได้แรงงานไทย โดยเน้นพัฒนาทักษะใหม่ Upskill / Reskill และ New Skill หวังให้สอดรับกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อให้แรงงานไทยเติบโตเคียงคู่เศรษฐกิจโลก ย้ำที่ผ่านมาก่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นฉันทามติร่วมกันของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

เวทีผู้นำเอเปคเริ่มหารือฉันทามติเป้าหมายกรุงเทพฯ  

ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค เริ่มหารือฉันทามติ เป้าหมายกรุงเทพฯ เศรษฐกิจ BCG ร่วมผลักดันเขตการค้าเสรี FTA  เอเปค เพิ่มช่องทางส่งออกช่วยเกษตรกร เน้นความมั่นคงอาหาร  ลดต้นทุนพลังงาน เติมทุนให้รายย่อยในกลุ่มเอเปค

นายกฯ หวังเวทีผู้นำเอเปคร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG

ประชุมผู้นำเอเปคเริ่มขึ้นแล้ว นายกฯ หวังผู้นำเขตเศรษฐกิจรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดอย่างเป็นรูปธรรม สมดุล ยั่งยืน ชี้ ไทยขูเป็นวาระแห่งชาติ เป็นยุทธศาสตร์ฟื้นฟูหลังโควิด

ฉันทามติเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค มีฉันทามติเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ต่อที่ประชุมระดับผู้นำเอเปค ในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว

มาเลเซียจะผลักดันอาเซียนกดดันเมียนมา

พนมเปญ 1 ส.ค.- มาเลเซียเตรียมเป็นแกนนำผลักดันให้ดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับเมียนมา เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะประชุมกันในสัปดาห์นี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญของกัมพูชาระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคมนี้ มาเลเซียจะนำเสนอกรอบเวลาในการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนและเมียนมาตกลงกันเมื่อเดือนเมษายน ปี 2564 และไม่มีความคืบหน้า องค์ประกอบสำคัญในกรอบข้อตกลงนี้คือ การที่จะต้องปฏิบัติตามแผนให้แล้วเสร็จ นายไซฟุดดินยังได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่เมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 คนเมื่อเดือนก่อน แสดงให้เห็นว่า เมียนมาลบหลู่แผนฉันทามติที่เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร อาเซียนประณามเมียนมาเรื่องประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว ขณะที่สมาชิกอาเซียนหลายประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์เมียนมา แต่นักการทูตอาวุโสในอาเซียนไม่คิดว่า จะมีประเทศใดถึงขั้นเรียกร้องให้ขับเมียนมาออกจากอาเซียน.-สำนักข่าวไทย

รัสเซีย-จีนบล็อกยูเอ็นออกแถลงการณ์เรื่องเมียนมา

สหประชาชาติ 28 พ.ค.- รัสเซียและจีนขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอสซี (UNSC) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเรื่องความรุนแรงและสถานการณ์มนุษยธรรมร้ายแรงในเมียนมา และเรื่องที่เมียนมามีความคืบหน้าอย่างจำกัดในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสันติภาพ แหล่งข่าวการทูตเผยว่า รัสเซียและจีนได้ขัดขวางการออกแถลงการณ์ดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ตามเวลานิวยอร์กของสหรัฐ คณะนักการทูตจีนเสนอให้ใช้คำว่ามีความคืบหน้า “ช้า” แทนคำว่า “อย่างจำกัด” เพราะคำหลังดูเหมือนไม่ยอมรับว่ามีความคืบหน้าเท่าใดนัก นอกจากนี้ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวยังเสนอสูตรที่ไม่มีใครยอมรับและแสดงความถอดใจเรื่องการเจรจา ร่างแถลงการณ์ที่เสนอโดยอังกฤษย้ำเรื่องสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้แก่การหาทางออกอย่างสันติให้แก่วิกฤตเมียนมา และย้ำเรื่องสมาชิกยูเอ็นเอสซีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินหน้าเจรจาเพื่อประโยชน์ของชาวเมียนมา ร่างแถลงการณ์นี้ยังได้แสดงความกังวลที่เมียนมามีความคืบหน้าอย่างจำกัดในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการที่ตกลงไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 และเรียกร้องให้เมียนมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติตามฉันทามติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่.-สำนักข่าวไทย

“ฮุน เซน” เชิญ “มิน อ่องหล่าย” ประชุมสุดยอดอาเซียน

พนมเปญ 25 ม.ค.- นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาเผยว่า ได้เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน หากเมียนมามีความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนสันติภาพที่ตกลงกันไว้เมื่อปีก่อน นายกรัฐมนตรีฮุน เซนในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันเผยว่า จะคุยผ่านระบบวิดีโอทางไกลกับผู้นำเมียนมาในวันพุธ เฟซบุ๊กของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนได้ลงแถลงการณ์สรุปการสนทนาระหว่างเขากับนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ยาคอบของมาเลเซียว่า นายกรัฐมนตรีแจ้งว่าได้เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่ายมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน หากมีความคืบหน้าเรื่องการปฏิบัติตามแผนฉันทามติ 5 ข้อที่เมียนมาตกลงกับอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนปีก่อนเรื่องยุติความเป็นปรปักษ์และเปิดทางให้มีการเจรจา แต่หากไม่มีความคืบหน้า ผู้นำเมียนมาต้องส่งผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองมาร่วมประชุมอาเซียนแทน ผู้นำกัมพูชาไปเยือนเมียนมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกนับตั้งแต่กองทัพเมียนมารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน ทำให้บางประเทศกังวลว่าอาจถูกตีความว่าอาเซียนให้การรับรองผู้นำทหารเมียนมา กัมพูชาแสดงออกว่าไม่ต้องการโดดเดี่ยวเมียนมา แต่ผู้นำสมาชิกอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์กดดัน ไม่ให้ยอมอ่อนข้อให้แก่เมียนมา.-สำนักข่าวไทย

1 2
...