รองนายกฯ จีนขอให้ปรับปรุงมาตรการคุมโควิด

ปักกิ่ง 1 ธ.ค.- รองนายกรัฐมนตรีจีนขอให้มีการปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ด้วยการทำให้นโยบายตรวจหาเชื้อ รักษา และกักตัวมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเชื้อไวรัสมีความสามารถในการก่อโรคลดลงแล้ว สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างคำกล่าวของนางซุน ชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรี วัย 72 ปี เมื่อวานนี้ว่า จีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ใหม่และภารกิจใหม่ในการป้องกันและควบคุมการระบาด เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีความสามารถในการก่อโรคลดลง มีประชาชนรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น และมีการสั่งสมประสบในการควบคุมไวรัส รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรกเสมอ โดยได้จัดการกับสถานการณ์การระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ที่สม่ำเสมอและมาตรการที่ยืดหยุ่นในการต่อสู้กับไวรัส ขณะเดียวกันจีนจะต้องปรับปรุงการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนทั้งปวง รัฐบาลได้ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะเพิ่มอัตราการฉีควัคซีนให้แก่เด็กและผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด นอกจากนี้จีนยังกำลังใช้แนวทางที่มีมนุษยธรรมมากขึ้นในการรับมือกับการระบาดด้วย รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเรื่องนี้ ในขณะที่หลายเมืองในจีนเริ่มใช้แนวทางจัดการการระบาดแบบมีเป้าหมายมากขึ้น ด้วยการนำมาตรการใหม่ 20 ประการที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อเกือบ 3 สัปดาห์ก่อนมาปรับใช้ให้เหมาะสม กวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีนที่เกิดเหตุประชาชนประท้วงไม่พอใจมาตรการคุมโควิดเมื่อไม่นานมานี้ นำร่องด้วยการผ่อนคลายมาตรการจำกัดและอนุญาตให้ผู้สัมผัสผู้ติดโควิดสามารถกักตัวที่บ้านได้.-สำนักข่าวไทย

นักวิทยาศาสตร์ห่วงไข้หวัดนกระบาดทั่วโลก

สกอตแลนด์ 6 ก.พ.- นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศกำลังวิตกเรื่องเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทำให้สัตว์ปีกที่เป็นสัตว์ป่าในหลายประเทศทั่วโลกล้มตาย อีกทั้งยังพบเชื้อไวรัสที่เป็นสายพันธุ์ก่อโรคสูงในแคนาดาและทางเหนือของสหรัฐแล้ว สกอตแลนด์พบห่านป่าอพยพจากนอร์เวย์มายังแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติในสกอตแลนด์ตายลงเป็นจำนวนมากในเดือนธันวาคม เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเอช5เอ็น1 (H5N1) ขณะที่อิสราเอลพบการระบาดที่รุนแรงกว่าทุกฤดูหนาวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นนกกระเรียนยูโรเชียที่ตายมากถึง 8,000 ตัวในช่วงไม่กี่วันของปลายเดือนธันวาคม จากที่อพยพมาราว 25,000 ตัวของทุกปี นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนว่า ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมักแพร่จากสัตว์ปีกที่เป็นสัตว์ป่าไปยังสัตว์ปีกที่เป็นสัตว์เลี้ยง และการเลี้ยงเป็นฟาร์มที่ให้สัตว์ปีกอยู่อย่างแออัดเสี่ยงทำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงยิ่งขึ้น สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปี 2547-2548 ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) เคยประเมินว่า มีการกำจัดสัตว์ปีกมากถึง 45 ล้านตัวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2547 อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีมานี้พบว่า สัตว์ปีกที่เป็นสัตว์ป่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงขึ้น โดยเฉพาะยุโรปตะวันตก เพราะพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติลดลงจากการที่คนรุกล้ำพื้นที่ป่ามากขึ้น ทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องอยู่อย่างแออัดมากขึ้น จึงเสี่ยงแพร่เชื้อและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งพื้นที่ป่ากับพื้นที่ฟาร์มของคนยังมีความใกล้กันมากขึ้นด้วย ล่าสุดเริ่มเห็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในทวีปอเมริกาที่ปกติแล้วมักเกิดการระบาดเป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย

...