
กมธ.สิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ยกปมสารปนเปื้อนแม่น้ำกก ถกด่วน
รัฐสภา 27 พ.ค.-กมธ.สิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ยกปมสารปนเปื้อนแม่น้ำกก ถกด่วน มองต้องแก้ที่ต้นเหตุเจรจาประเทศเพื่อนบ้านหากไม่ได้ต้องพึ่งศาลโลก พร้อมเสนอรัฐบาลแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำสาย หลังพบหลายพื้นที่สร้างผิดกฎหมาย คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา หยิบยกแนวทางการแก้ไขปัญหาสารมลพิษปนเปื้อนและการบำบัดฟื้นฟูแม่น้ำกก และแม่น้ำสายจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือผู้แทน เข้าร่วมชี้แจง แต่กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่าติดภารกิจในพื้นที่จึงไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวก่อนประชุมว่า ขณะนี้มีแม่น้ำ 2 สายที่มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนคือแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ปีที่แล้วมีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษว่ามีสารปนเปื้อนในแม่น้ำและจากภาพถ่ายทางอากาศก็พบว่ามีการทำเหมืองในประเทศเพื่อบ้าน ใกล้แหล่งน้ำจึงมองว่าต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการสร้างเขื่อนดักตะกอนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จะทำได้ต่อเมื่ออยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟู ดังนั้นจึงควรเดินหน้าเจรจา หรือสุดท้ายอาจต้องฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ นอกจากนี้เรื่องสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องมีการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้อง และชี้แจงเรื่องความเสี่ยงกับประชาชนว่าอันตรายระดับไหน วันนี้เท่าที่เห็นข้อมูลยังแกว่งอยู่ ส่วนกรณีแม่น้ำสาย นายชีวะภาพ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ จะเน้นเรื่องสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ เพราะจากการศึกษาพบว่าการก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินคดี ก็ต้องตอบให้ได้เพราะเป็นการทำผิดไม่ว่าจะขนาดใหญ่แค่ไหนก็ต้องรื้อถอน ซึ่งในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านหากรุกล้ำก็ต้องรื้อถอนเช่นกัน แต่ต้องเริ่มที่ฝั่งไทยก่อนตามกฎหมายของไทย “เรื่องแม่น้ำกก เราจะเรียกร้องในส่วนที่รุกล้ำลำน้ำเป็นอันดับแรกเพราะในส่วนนี้รัฐบาลไทยทำได้เลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นตึกที่ก่อสร้างไปในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มันผิดอยู่แล้วและอันดับ2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคารได้บังคับใช้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินการ ส่วนเรื่องสารปนเปื้อนต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแต่ถ้าเจรจาไม่ได้จริงๆ วิกฤตจริงๆ อาจจะต้องพึ่งกระบวนการกฎหมายระหว่างประเทศพึ่งศาลโลก”นายชีวะภาพ […]