ไฟเซอร์เผยยาเม็ดต้านโควิดยังมีประสิทธิภาพ 90%

นิวยอร์ก 15 ธ.ค. – ไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ เผยเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า ยาเม็ดต้านเชื้อโควิดที่บริษัทพัฒนาขึ้นยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้เกือบร้อยละ 90 ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่ผลทดลองล่าสุดชี้ว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพต้านเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเช่นกัน ไฟเซอร์เผยข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายจากการทดลองในห้องปฏิบัติการว่า ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเสียชีวิตหลังได้รับยาเม็ดต้านเชื้อโควิด และมีผู้ป่วยติดเชื้อ 12 รายที่เสียชีวิตจากการได้รับยาหลอก ไฟเซอร์ได้ใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาต้านเชื้อไวรัสแบบดั้งเดิมในกลุ่มอาสาสมัครทุก ๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วันหลังจากที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หากยาเม็ดต้านเชื้อโควิดได้รับการอนุมัติ ไฟเซอร์จะจัดจำหน่ายยาดังกล่าวภายใต้ชื่อ แพ็กซ์โลวิด ไฟเซอร์ยังเผยข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองครั้งที่สองที่ระบุว่า ยาเม็ดต้านเชื้อโควิดช่วยลดอัตราป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ราวร้อยละ 70 จากการทดลองทางคลินิกในกลุ่มอาสาสมัครขนาดเล็กที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะเดียวกัน นายมิคาเอล โดลสเตน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า คาดว่ายาเม็ดต้านเชื้อโควิดของไฟเซอร์จะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศอื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้ ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์เผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า ยาเม็ดต้านเชื้อโควิดมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิดสูงถึงร้อยละ 89 ในกลุ่มอาสาสมัคร 1,200 คน ขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลครั้งในครั้งนี้มีกลุ่มอาสาสมัครเข้าร่วมเพิ่มอีก 1,000 คน.-สำนักข่าวไทย

ไฟเซอร์แจกสูตรยาเม็ดต้านโควิดแต่ไร้ชื่อไทย

วอชิงตัน 17 พ.ย. – ไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ ลงนามในข้อตกลงกับองค์การจัดการสิทธิบัตรยาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เพื่อแจกสูตรการผลิตยาเม็ดต้านโควิดที่บริษัทพัฒนาขึ้น หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ แพ็กซ์โลวิด ให้แก่ผู้ผลิตยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 95 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อนี้ บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ยาแพ็กซ์โลวิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองมีโอกาสเข้าถึงประชากรร้อยละ 53 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย แต่กลับไม่มีรายชื่อของบางประเทศที่เผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก เช่น บราซิล จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา และประเทศไทย ขณะที่ไฟเซอร์ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาในประเทศกำลังพัฒนาผลิตยาแพ็กซ์โลวิดได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยาดังกล่าวเข้าถึงประชากรทั่วโลกได้มากขึ้น โดยที่ไฟเซอร์จะไม่เก็บค่าตอบแทนจากกลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่มีรายชื่ออยู่ในข้อตกลงตราบใดที่องค์การอนามัยโลกยังคงกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงยารักษาโรคโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิด ด้านองค์การแพทย์ไร้พรมแดนเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า รู้สึกผิดหวังกับข้อตกลงในครั้งนี้ที่ไม่ได้ทำให้ยาเม็ดต้านโควิดของไฟเซอร์เข้าถึงทุกคนบนโลก ทั้งนี้ ไฟเซอร์ได้เผยผลการทดลองทางคลินิกในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ยาแพ็กซ์โลวิดช่วยลดอัตราเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึงร้อยละ 89.-สำนักข่าวไทย

ไฟเซอร์ยื่นขออนุมัติใช้ยาเม็ดต้านโควิดในสหรัฐแล้ว

นิวยอร์ก 17 พ.ย. – ไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทเวชภัณฑ์ของสหรัฐ ได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ หรือเอฟดีเอ เพื่อขออนุมัติใช้ยาเม็ดต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ไฟเซอร์ระบุว่า บริษัทได้ยื่นเอกสารต่อเอฟดีเอเพื่อขออนุมัติใช้ยาเม็ดต้านเชื้อโควิด หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘แพ็กซ์โลวิด’ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง ซึ่งรวมถึงข้อมูลผลการทดลองทางคลินิกที่ระบุว่า ยาดังกล่าวช่วยลดอัตราผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงได้สูงถึงร้อยละ 89 ทั้งนี้ ยาแพ็กซ์โลวิดอาจกลายเป็นความหวังใหม่ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสามารถรับประทานยาดังกล่าวได้ที่บ้านตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และอาจกลายเป็นเวชภัณฑ์สำคัญในประเทศที่วัคซีนป้องกันโรคโควิดเข้าถึงได้ยากหรือมีอัตราฉีดวัคซีนต่ำ นอกจากนี้ ไฟเซอร์ยังเผยว่า บริษัทจะแจกสูตรการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดให้ผู้ผลิตยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง 95 ประเทศโดยไม่คิดค่าตอบแทนผ่านข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับองค์การจัดการสิทธิบัตรยาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเอฟดีเอจะประกาศอนุมัติใช้ยาแพ็กซ์โลวิดของไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อใด แต่คณะกรรมการอิสระที่เป็นที่ปรึกษาของเอฟดีเอจะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคำขออนุมัติในวันที่ 30 พฤศจิกายน และคาดว่ายาดังกล่าวจะได้รับอนุมัติใช้ภายในปีนี้ ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์เผยว่า ได้เริ่มขั้นตอนยื่นขออนุมัติใช้ยาแพ็กซ์โลวิดในประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ รวมถึงการเตรียมขออนุมัติใช้ยาดังกล่าวทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย

อินเดียมียอดป่วยโควิดต่ำสุดในรอบกว่าเดือน

อินเดียพบยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ 196,427 คนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายวันต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน

...