เอกชนแห่ใช้สิทธิประโยชน์ FTA
ทำเนียบฯ 18 เม.ย.-นายกรัฐมนตรี พอใจการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ช่วงมกราคม 2566 การส่งออกไทยสูงกว่าร้อยละ 72 ยอดรวม 5.4 พันล้านดอลลาร์ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพอใจการใช้สิทธิประโยชน์ จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี 12 ฉบับ ในช่วงเดือนมกราคม2566 ผลักดันให้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เดือนมกราคม 2566 มูลค่าส่งออก 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯมูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นับว่าสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ กว่าร้อยละ 71.79 โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ในกรอบความมือสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 68.74 มูลค่าการส่งออก 3,026 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการใช้สิทธิ2,081.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก ยานยนต์สำหรับขนส่งของ น้ำตาล รถยนต์ส่วนบุคคล(1,500-3,000 ซี.ซี.) และน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส อันดับ 2. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 78.53 อาทิ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้สดอื่นๆ และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง รวมมูลค่าการใช้สิทธิ 1,208 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 3. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 72.97 ในสินค้าจำพวก รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 ซี.ซี.ขึ้นไปและขนาด 1,000-1,500 ซี.ซี. ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และปลาทูน่าปรุงแต่ง อันดับ 4. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 75.05 ในสินค้าจำพวก เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็น เดกซ์ทริน และโมดิไฟด์สตาร์ช และกระสอบและถุงทำด้วยพลาสติก รวมมูลค่าการใช้สิทธิ487.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 70.65 โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าสูง และ สารประกอบออร์แกโนอินออร์แกนิกอื่นๆ ลวดทองแดง โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์หรือของฮาโลเจเนเต็ดโอลีฟิน ในลักษณะขั้นปฐมภูมิ รวมมูลค่าการใช้สิทธิ 400.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีกรอบความตกลง FTA เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ที่สร้างมูลค่าการส่งออกมหาศาลเช่นกัน “นายกรัฐมนตรี จึงเดินหน้าการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันส่งเสริมความร่วมมือทางก้านการค้า การใช้สิทธิประโยชน์ในการค้า ตามกรอบความร่วมมือที่รัฐบาลได้ผลักดันจนเกิดการลงนามไว้หลายฉบับ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย คาดว่าในอนาคต จะมีกรอบความร่วมมือที่บรรลุวัตถุประสงค์จากการเจรจา ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือด้านอื่นที่ไทยมีศักยภาพ” นายอนุชาฯ กล่าว.-สำนักข่าวไทย