ญี่ปุ่นขยายอายุการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
โตเกียว 10 ก.พ.- รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบนโยบายที่จะเปิดทางให้ขยายอายุการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี และสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่เพื่อใช้งานแทนเครื่องเดิม ตามนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยที่ประเทศยังมีปริมาณไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ความเห็นชอบนโยบายปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมเรื่องการใช้งานพลังงานนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียน เป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญสำหรับญี่ปุ่นที่เคยเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปี 2554 โดยจะนำร่างกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามนโยบายนี้เข้าสู่การพิจารณาการประชุมสภาวาระปัจจุบัน นโยบายใหม่จะขยายอายุการใช้งานของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้ใช้งานได้เกิน 60 ปี ด้วยการไม่นับรวมเวลาที่เตาปฏิกรณ์หยุดเดินเครื่องเพื่อรับการตรวจสอบและซ่อมบำรุง และจะสนับสนุนให้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิมเพราะเชื่อว่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยต้องสร้างภายในที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ที่มีกำหนดถูกปลดระวาง ตั้งเป้าจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ได้ในคริสต์ทศวรรษ 2030 นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการกำจัดกากนิวเคลียร์ที่มีกัมมันตรังสีปริมาณสูง ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปี 2544 ที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิขนาดใหญ่ซัดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียหาย ทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่สนับสนุนให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ แต่หลังจากรัสเซียทำสงครามในยูเครน ญี่ปุ่นซึ่งพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้าอย่างมากจึงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ สั่งการเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วให้รัฐบาลหาทางใช้ประโยชน์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย