ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ในบังกลาเทศ

นิวยอร์ก 6 ส.ค.- สหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในบังกลาเทศ ใช้ความอดทนอดกลั้น และให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวตามแนวทางประชาธิปไตย รองโฆษกยูเอ็นกล่าวว่า นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนในเหตุประท้วงในบังกลาเทศที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ จึงเรียกร้องความสงบและการอดกลั้นจากทุกฝ่าย ขอให้กระบวนการส่งผ่านอำนาจ ดำเนินไปโดยสันติ สงบเรียบร้อยและเป็นประชาธิปไตย และขอให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงปกป้องกลุ่มผู้ประะท้วงทั้งในกรุงธากาและเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่นายแมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐแถลงว่า สหรัฐสนับสนุนการตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบังกลาเทศ โดยขอให้ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยและครอบคลุมทุกฝ่าย หลังนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ลี้ภัยเหตุประท้วงรุนแรงไปอินเดีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีแถลงเน้นย้ำว่า บังกลาเทศต้องไม่ออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย ท่ามกลางเหตุความไม่สงบในประเทศ เช่นดียวกับนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในบังกลาเทศ ขอให้ทุกฝ่ายรับประกันจะมีการส่งผ่านอำนาจสู่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนางฮาซีนายังไม่แถลงใด ๆ แต่ได้เพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศ หลังจากผู้บัญชาการกองทัพบกบังกลาเทศแถลงเมื่อวานนี้เรื่องจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีตนเองทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี.-810(814).-สำนักข่าวไทย

ยูเอ็นยอมรับมีทีมงานพัวพันเหตุฮามาสบุกอิสราเอล

นิวยอร์ก 6 ส.ค.- สหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ยอมรับว่า ทีมงานของยูเอ็นจำนวน 9 คน อาจเกี่ยวข้องกับเหตุกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และทั้งหมดจะถูกไล่ออก รองโฆษกยูเอ็นแถลงเมื่อวานนี้ว่า สำนักงานตรวจสอบภายในของยูเอ็นได้เสร็จสิ้นการสอบสวนทีมงาน 19 คนของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ของยูเอ็น หรือยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ (UNRWA) ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับเหตุโจมตีอิสราเอล ผลการสอบสวนเป็นรายบุคคลพบว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาจพัวพันจำนวน 9 คน ไม่มีหลักฐานสนับสนุนจำนวน 1 คน และมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอจำนวน 9 คน รองโฆษกกล่าวว่า ผู้ที่ถูกสรุปว่าอาจพัวพันจะถูกไล่ออก แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าคนกลุ่มนี้ได้กระทำสิ่งใด โดยกล่าวเพียงว่า การมีส่วนร่วมกับการโจมตีถือเป็นการทรยศต่อภารกิจที่ควรต้องทำเพื่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ ยูเอ็นได้เปิดการสอบสวนหลังจากอิสราเอลกล่าวหาว่า ทีมงานของยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ 12 คน มีส่วนร่วมในเหตุกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นชนวนเหตุสงครามกาซาที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ อิสราเอลกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อเดือนมีนาคมว่า ทีมงานยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอมากกว่า 450 คน เป็นสมาชิกกลุ่มฮามาส ขณะที่หน่วยงานแห่งนี้ตอบโต้ว่า ทีมงานบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวจากอิสราเอลเผยว่า ถูกทางการอิสราเอลกดดันให้รับสารภาพว่ามีส่วนร่วมกับฮามาสทั้งที่ไม่จริง ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอมีทีมงานทั้งหมด […]

ยูเอ็นชี้ รพ.เด็กในยูเครนน่าจะถูกจรวดรัสเซียยิงโดยตรง

เจนีวา 9 ก.ค. – หัวหน้าทีมภารกิจของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ชี้ว่าโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟของยูเครน น่าจะถูกรัสเซียยิงขีปนาวุธใส่โดยตรง หลังจากรัสเซียอ้างว่าโรงพยาบาลเสียหายเพราะการยิงต่อต้านขีปนาวุธของยูเครน นางแดเนียล เบลล์ หัวหน้าคณะภารกิจเฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยูเครนของยูเอ็นแถลงว่า ผลการวิเคราะห์คลิปวิดีโอและการประเมินในที่เกิดเหตุบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากว่า โรงพยาบาลเด็กได้รับความเสียหายจากการถูกยิงโดยตรง มากกว่าได้รับความเสียหายจากผลพวงของการใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธ ทีมงานของเธอได้ไปตรวจดูโรงพยาบาลเด็กเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุ แม้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ แต่ดูเหมือนว่าขีปนาวุธยิงมาจากฝั่งรัสเซีย โรงพยาบาลแห่งนี้รักษาเด็กที่ป่วยหนัก เช่น มะเร็ง โรคไต ช่วงเกิดเหตุในตอนเช้าวันจันทร์มีคนไข้เด็กประมาณ 670 คน และเจ้าหน้าที่ราว 1,000 คน ด้านสำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐของยูเครนเผยในวันนี้ว่า มีหลักฐานยืนยันว่าโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟถูกขีปนาวุธร่อนเคเอช-101 (Kh-101) ของรัสเซียยิงโจมตีโดยตรง โดยได้เปิดเผยภาพเศษซากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนขีปนาวุธที่พบในที่เกิดเหตุ ผลการวิเคราะห์ทิศทางและสภาพความเสียหายที่บ่งชี้ว่าเป็นการโจมตีโดยตรง ขณะที่โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียแถลงโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า โรงพยาบาลเด็กในเคียฟเสียหายเพราะยูเครนใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธ ไม่ใช่การยิงของรัสเซีย รัสเซียขอยืนยันว่า ไม่โจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน.-814.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาโต้รายงานยูเอ็นเรื่องได้เงินและอาวุธจากต่างชาติ

ธนาคารกลางแห่งเมียนมา ปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เรื่องรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเข้าถึงเงินและอาวุธจากบางประเทศ สำหรับทำสงครามกับกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร

เผยกองทัพเมียนมายังคงเข้าถึงเงินและอาวุธไว้ทำสงคราม

วอชิงตัน 26 มิ.ย.- สหประชาชาติหรือยูเอ็นเผยรายงานวันนี้ว่า การที่นานาชาติพยายามโดดเดี่ยวรัฐบาลเมียนมาดูเหมือนจะสามารถลดทอนความสามารถในการจัดซื้ออาวุธใหม่จากต่างประเทศ แต่กองทัพเมียนมายังคงเข้าถึงเงินและอาวุธจากบางประเทศไว้ทำสงครามกับกลุ่มต่อต้าน นายทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาเผยแพร่รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมานำเข้าอาวุธ เทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งทางทหารและพลเรือน อุปกรณ์การผลิต และวัสดุอื่น ๆ มูลค่า 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,311 ล้านบาท) ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567 ลดลง 1 ใน 3 จากปีงบประมาณก่อน อันเป็นผลจากการที่สิงคโปร์พยายามขัดขวางไม่ให้บริษัทสิงคโปร์ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมา เรื่องนี้มีความหมายอย่างยิ่ง เนื่องจากกองทัพเมียนมาใช้อาวุธเหล่านี้โจมตีทางอากาศ สังหารพลเรือนตามหมู่บ้าน รายงานระบุว่า หน่วยงานในความควบคุมของกระทรวงกลาโหมเมียนมามีการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23,185 ล้านบาท) ระหว่างปี 2565-2567 โดยจัดซื้อจัดจ้างจากสิงคโปร์ลดลง จากมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 4,048 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2565 เหลือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐเศษ (ราว 368 ล้านบาท) […]

นิวซีแลนด์จะเสริมทหารในภารกิจยูเอ็นที่เกาหลีใต้กว่า 4 เท่า

เวลลิงตัน 11 มิ.ย.- นิวซีแลนด์จะส่งทหารไปร่วมภารกิจสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่เขตปลอดทหารระหว่าง 2 เกาหลีอีก 41 นาย จากที่มีอยู่ 12 นายในปัจจุบัน เพื่อหาทางเพิ่มบทบาทนิวซีแลนด์ในภารกิจระหว่างประเทศ จูดิธ คอลลินส์ รัฐมนตรีกลาโหมนิวซีแลนด์เผยวันนี้ว่า การตัดสินใจเพิ่มจำนวนทหารนิวซีแลนด์ในกองกำลังความมั่นคงกองบัญชาการยูเอ็นที่เกาหลีใต้จาก 12 นาย เป็น 53 นาย  สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนิวซีแลนด์ที่จะสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี รัฐมนตรีกลาโหมนิวซีแลนด์เผยด้วยว่า การส่งทหารไปร่วมภารกิจยูเอ็นที่เกาหลีใต้ได้รับการขยายเวลาไปจนถึงเดือนกันยายน 2569 นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน ของนิวซีแลนด์ได้พยายามทำให้นิวซีแลนด์มีบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2566 เช่น ส่งทีมความมั่นคงทางทะเลไปร่วมลาดตระเวนในทะเลแดง เพื่อปกป้องเรือพาณิชย์ที่ถูกกลุ่มฮูธีในเยเมนโจมตี.-814.-สำนักข่าวไทย

“ปราโบโว” ระบุอินโดนีเซียพร้อมส่งทหารรักษาสันติภาพไปกาซา

นายปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าววันนี้ว่า อินโดนีเซียมีความตั้งใจที่จะส่งทหารรักษาสันติภาพไปบังคับใช้การหยุดยิงในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสหากว่ามีความต้องการ

สหรัฐจะไม่เข้าร่วมงานยูเอ็นไว้อาลัย ปธน.อิหร่าน ฮ.ตก

สหประชาชาติ 30 พ.ค.- สหรัฐจะไม่เข้าร่วมงานที่สหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) จะจัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้แก่ประธานาธิบดีเอบราฮิม เรซีของอิหร่านที่ถึงแก่อสัญกรรมเพราะเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่สหรัฐที่ขอสงวนนามเผยกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐจะไม่เข้าร่วมงานที่สมัชชาสหประชาชาติหรือยูเอ็นจีเอ (UNGA) จะจัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้นำอิหร่านในทุกกรณี ยูเอ็นควรอยู่เคียงข้างประชาชนชาวอิหร่าน ไม่ใช่รำลึกถึงผู้ที่กดขี่พวกเขามาหลายทศวรรษ เรซีพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนน่ากลัวมากมาย รวมถึงการสังหารนักโทษทางการเมืองหลายพันคนตามอำเภอใจในปี 2531 นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะกับเด็กหญิงและสตรีในอิหร่านในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ด้านคณะผู้แทนถาวรอิหร่านประจำยูเอ็นไม่ขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ปกติแล้วยูเอ็นจีเอ ซึ่งมีสมาชิก 193 ประเทศจะประชุมเพื่อไว้อาลัยผู้นำประเทศที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะอยู่ในตำแหน่ง รอยเตอร์รายงานว่า งานนี้จะมีการกล่าวสุนทรพจน์สดุดีนายเรซี ที่ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่เขาโดยสารมาพร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศและคณะชนเทือกเขาท่ามกลางทัศนวิสัยไม่ดีใกล้พรมแดนอาร์เซอร์ไบจาน หลังเสร็จสิ้นการไปเปิดเขื่อนในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ก่อนเริ่มการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอสซี (UNSC) ทั้ง 15 ประเทศได้ยืนไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่อิหร่าน โดยที่นายโรเบิร์ต วูด รองเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรสหรัฐประจำยูเอ็นได้ลุกขึ้นยืนอย่างไม่เต็มใจนัก ขณะที่สมาชิกสภาพรรครีพับลิกันบางคนแสดงความไม่พอใจที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายเรซี.-814.-สำนักข่าวไทย

จีนหนุนให้ปาเลสไตน์มีสถานภาพเท่าเทียมอิสราเอล

นิวยอร์ก 11 พ.ค.- จีนสนับสนุนให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอสซี (UNSC) พิจารณาคำร้องขอเป็นสมาชิกยูเอ็นของปาเลสไตน์ และเห็นว่าปาเลสไตน์ควรมีสถานภาพเท่าเทียมกับอิสราเอล สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) ของทางการจีนรายงานว่า นายฟู่ ชง เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรแห่งประเทศจีนประจำยูเอ็นได้กล่าวต่อที่ประชุมวาระพิเศษฉุกเฉิน สมัยที่ 10 ของสมัชชาสหประชาชาติหรือยูเอ็นจีเอ (UNGA) เมื่อวันศุกร์ว่า การเป็นรัฐอิสระเป็นความปรารถนาอันยาวนานของชาวปาเลสไตน์ ดังนั้นการเป็นสมาชิกยูเอ็นอย่างเต็มตัวจึงเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการประวัติศาสตร์นี้ ปาเลสไตน์ควรมีสถานภาพเท่าเทียมกับอิสราเอล และประชาชนชาวปาเลสไตน์ควรมีสิทธิเดียวกันกับประชาชนชาวอิสราเอล นายฟู่กล่าวว่า ประชาคมโลกมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะสนับสนุนและเดินหน้ากระบวนการทำให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐอิสระ และให้การสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งต่อการทำให้ทางออก 2 รัฐ และสันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลางเป็นจริง แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า คำขอเป็นสมาชิกยูเอ็นเต็มตัวของปาเลสไตน์ถูกสหรัฐใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้อย่างไร้ความเมตตาเมื่อวันที่ 18 เมษายน สหรัฐวีโต้ในประเด็นปาเลสไตน์-อิสราเอลหลายครั้ง หวังขัดขวางประชาคมโลกที่พยายามหาทางแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางประวัติศาสตร์ให้แก่ปาเลสไตน์ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับบทบาทของการเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ นายฟู่กล่าวต่อไปว่า จีนสนับสนุนให้ยูเอ็นเอสซีเร่งพิจารณาคำขอเป็นสมาชิกยูเอ็นเต็มตัวของปาเลสไตน์ตามที่ยูเอ็นจีเอมีมติในวันเดียวกัน สนับสนุนการที่ปาเลสไตน์ต้องการเป็นสมาชิกยูเอ็นเต็มตัว ซีซีทีวีระบุว่า มติครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดแบบวิธี (modalities) สำหรับรัฐปาเลสไตน์ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมและการประชุมที่เกี่ยวข้องของยูเอ็น ทำให้ปาเลสไตน์มีสิทธิและเอกสิทธิมากขึ้น จากปัจจุบันที่ปาเลสไตน์มีสถานภาพเป็นรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิกยูเอ็น อย่างไรก็ดี นายฟู่กล่าวว่า แบบวิธีดีงกล่าวถือเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น จีนหวังว่าแบบวิธีเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งถาวร เพราะในที่สุดแล้วปาเลสไตน์จะเป็นสมาชิกเต็มตัวของยูเอ็น มีสิทธิเต็มที่และเท่าเทียมกับสมาชิกอื่น ๆ ของยูเอ็น.-814.-สำนักข่าวไทย

เมียนมาตำหนิยูเอ็นกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนข้างเดียว

ย่างกุ้ง 9 เม.ย.- รัฐบาลทหารเมียนมาตำหนิสหประชาชาติหรือยูเอ็นในวันนี้ว่า กล่าวหาเพียงข้างเดียวเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา และไม่ได้แจ้งให้เมียนมาทราบอย่างเป็นทางการเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาของทางการเมียนมารายงานวันนี้อ้างแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศว่า มติของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติหรือโอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) เป็นการกล่าวหาที่ไร้มูลและกล่าวหาเพียงข้างเดียว ดังนั้นเมียนมาจึงไม่ยอมรับมตินี้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ยูเอ็นยังไม่สื่อสารอย่างเป็นทางการกับเมียนมาเรื่องแต่งตั้งทูตพิเศษยูเอ็นด้านเมียนมาคนใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน โอเอชซีเอชอาร์ (OHCHR) มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างน่ากลัวและเป็นระบบในเมียนมา พร้อมกับวิจารณ์เรื่องที่รัฐบาลทหารเมียนมาขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ทำให้วิกฤตที่ทำให้คนมากกว่า 2 ล้าน 5 แสนคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นเลวร้ายลงไปอีก ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายนนายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นแต่งตั้งนางจูลี บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียเป็นทูตพิเศษเลขาธิการยูเอ็นด้านเมียนมา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลงนับตั้งแต่นางโนลีน เฮย์เซอร์ นักสังคมวิทยาชาวสิงคโปร์ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ครบวาระเมื่อเดือนมิถุนายน 2566.-814.-สำนักข่าวไทย

อิสราเอลโจมตีไปโดนผู้สังเกตการณ์ยูเอ็นในเลบานอน

เบรุต 30 มี.ค. – อิสราเอลโจมตีไปโดนพาหนะที่มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ทางด้านเทคนิคของสหประชาขาติโดยสารมาด้วย ที่บริเวณด้านนอกของเมืองรามีช ซึ่งเป็นเมืองทางใต้ของเลบานอนที่มีชายแดนติดกับอิสราเอล ทำให้เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ได้รับบาดเจ็บหลายคน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุว่า รถยนต์ที่ถูกโจมตีมีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ทางเทคนิคของสหประชาชาติ 3 คนและล่ามชาวเลบานอน 1 คน ในขณะที่มีแหล่งข่าวอีกแห่งระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลทำให้ผู้ที่อยู่ในรถคันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บหลายคน โฆษกของกองทัพอิสราเอลกล่าวปฏิเสธเรื่องที่ว่า กองกำลังของอิสราเอลโจมตีไปโดนยานยนต์ของปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในภาคใต้ของเลบานอน หรือ ยูนิฟิล ขณะนี้ยังไม่มีรายงานแสดงความเห็นจากยูนิฟิลหรือจากปฏิบัติการสังเกตการณ์ทางเทคนิคของสหประชาชาติ   อิสราเองเปิดฉากยิงตอบโต้การโจมตีของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธทางภาคใต้ของเลบานอนมาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน พร้อม ๆ กับที่อิสราเอลโจมตีกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซา.-813.-สำนักข่าวไทย

คาดเวียดนามจะให้ตั้งสหภาพแรงงานอย่างเสรี

ฮานอย 27 ก.พ.- เจ้าหน้าที่สหประชาชาติหรือยูเอ็นและนักการทูตคาดว่า เวียดนามจะให้สัตยาบันอนุสัญญายูเอ็นเรื่องการตั้งสหภาพแรงงานอย่างเสรีภายในปีนี้ หวังลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาท แต่อาจทำให้บริษัทต่างชาติไม่สบายใจ อินกริด คริสเตนเซน หัวหน้าองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (ILO) ประจำเวียดนามแสดงความมั่นใจว่า เวียดนามจะให้สัตยาบันอย่างเร็วที่สุดต่ออนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) ซึ่งเป็น 1 ในอนุสัญญาที่คุ้มครองสิทธิแรงงานทั่วโลก ด้านนักการทูตในเวียดนามเผยว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเวียดนามเผยในการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า คาดว่าจะมีการให้สัตยาบันในเดือนตุลาคม 2567 ปัจจุบันเวียดนามมีเพียงสหภาพแรงงานระดับประเทศที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้านนักวิชาการเวียดนามมองว่า การให้สัตยาบันอาจทำให้สหภาพแรงงานในเวียดนามมีอำนาจมากขึ้น และอาจทำให้บริษัทต่างชาติไม่สบายใจ กระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงบริษัทผู้ลงทุนรายใหญ่ เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องพึ่งพาการค้าอย่างมาก เนื่องจากมีมูลค่าสูงกว่าเศรษฐกิจประเทศถึงร้อยละ 160 ข้อตกลงทางการค้ามูลค่ามหาศาลที่เวียดนามทำกับสหภาพยุโรปและประเทศในแปซิฟิก กำหนดให้เวียดนามต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิแรงงานของยูเอ็นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทเรื่อง “การทุ่มตลาดทางสังคม” ซึ่งหมายถึงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมกับประเทศอื่นด้วยค่าจ้างแรงงาน.-814.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 4 35
...