ยานมินิโรเวอร์จับภาพ “ฉางเอ๋อ-6” บนด้านไกลของดวงจันทร์

ปักกิ่ง 13 มิ.ย. – ยานมินิโรเวอร์ที่ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีนขนส่งไปยังดวงจันทร์ ได้บันทึกและส่งภาพล่าสุดของยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้นของยานฉางเอ๋อ-6 บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) ซึ่งเป็นผู้พัฒนายานอวกาศดังกล่าวว่า ยานมินิโรเวอร์อัจฉริยะระบบอัตโนมัติติดอยู่กับยานลงจอดระหว่างการเดินทางไปยังดวงจันทร์และลงจอดบนดวงจันทร์ โดยหลังจากที่ยานฉางเอ๋อ-6 เก็บตัวอย่างบนด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว ยานโรเวอร์ดังกล่าวได้แยกตัวออกจากยานลงจอดโดยอัตโนมัติ เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม เลือกมุมที่เหมาะสม ทำการบันทึกภาพ และส่งกลับมายังโลกโดยอัตโนมัติ บริษัทฯ ระบุว่า ยานมินิโรเวอร์มีน้ำหนักราว 5 กิโลกรัม เบากว่ายานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อวี้ทู่ (Yutu) ซึ่งเป็นยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์เครื่องแรกของจีนที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ราว 2 คน การบันทึกภาพครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบอัจฉริยะอัตโนมัติสำหรับความพยายามสำรวจอวกาศห้วงลึกของจีน ซึ่งมีศักยภาพที่ดีและปูทางแก่การสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต ขณะนี้ยานฉางเอ๋อ-6 ยังคงอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ และกำลังรอเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับมายังโลก.-814.-สำนักข่าวไทย

ยานอวกาศจีนทะยานขึ้นจากดวงจันทร์พร้อมตัวอย่างจากด้านไกลชุดแรก

ปักกิ่ง 4 มิ.ย. –สื่อทางการจีนรายงานว่า ยานพุ่งขึ้นของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีน ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พร้อมตัวอย่างที่เก็บจากด้านไกลของดวงจันทร์ ถือเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนว่า ยานพุ่งขึ้นทะยานขึ้นจากด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อเวลา 07:38 น. ตามเวลาจีน และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดรอบดวงจันทร์ด้วยแรงผลักจากเครื่องยนต์ ขนาด 3,000 นิวตัน ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 เสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่างอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว และตัวอย่างถูกเก็บไว้ในกล่องภายในยานพุ่งขึ้นตามแผน ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานพุ่งขึ้น และยานส่งกลับ โดยส่วนประกอบยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้น แยกจากส่วนประประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม และลงจอดบนจุดที่กำหนดในแอ่งขั้วใต้-เอตเคน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน องค์การฯ ระบุว่า ภารกิจนี้พิสูจน์การผ่านบททดสอบจากอุณหภูมิสูงบนด้านไกลของดวงจันทร์ ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยได้จำลองการเก็บตัวอย่างในห้องปฏิบัติการภาคพื้นโลก โดยอ้างอิงข้อมูลที่ส่งกลับสู่โลกด้วยดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ซึ่งช่วยสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินงานที่สำคัญ รายงานระบุว่า การเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ การใช้เครื่องขุดเจาะเก็บตัวอย่างใต้พื้นผิว และการใช้แขนกลเก็บตัวอย่างบนพื้นผิว โดยมีการเก็บตัวอย่างหลากหลายชิ้นจากจุดต่างๆ อย่างอัตโนมัติ […]

...