นักวิจัยบราซิลพบสารในพิษงูอาจต้านเชื้อโควิดได้

เซาเปาลู 1 ก.ย. – นักวิจัยของบราซิลค้นพบโมเลกุลในพิษของงูชนิดหนึ่งช่วยยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในเซลล์ของลิงได้ ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การพัฒนายาต้านเชื้อโควิดในอนาคต ผลการศึกษาของนักวิจัยบราซิลที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อ “โมเลกุล” ในเดือนสิงหาคมพบว่า โมเลกุลของพิษงูจาราราคัสซูช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อโควิดในเซลล์ของลิงได้สูงถึงร้อยละ 75 ขณะที่ราฟาเอล กีโด อาจารย์มหาวิทยาลัยเซาเปาลูของบราซิลและผู้เขียนผลวิจัยระบุว่า โมเลกุลดังกล่าวเป็นเปปไทด์หรือสายของกรดอะมิโนที่เชื่อมต่อกับเอนไซม์ของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งมีความสำคัญต่อการแพร่พันธุ์ และไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์อื่น ๆ นอกจากนี้ โมเลกุลดังกล่าวมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและนำมาสังเคราะห์เปปไทด์ในห้องปฏิบัติการได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปจับหรือเลี้ยงงูจาราราคัสซู ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาลูของบราซิลได้ระบุในแถลงการณ์ว่า คณะนักวิจัยจะดำเนินการประเมินประสิทธิภาพโดสที่แตกต่างกันของโมเลกุลว่าสามารถป้องกันเชื้อโควิดไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยคาดหวังว่าจะทำการทดลองสารดังกล่าวในเซลล์ของมนุษย์ แต่ยังไม่ได้ระบุกำหนดเวลาที่แน่นอน ทั้งนี้ งูจาราราคัสซูเป็นงูชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มงูขนาดใหญ่ของบราซิล มีลำตัวยาวสูงสุดถึง 2 เมตร และมักอาศัยอยู่ในป่าแอตแลนติกตามแนวชายฝั่งของบราซิล อีกทั้งยังพบงูชนิดนี้ได้ในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา.-สำนักข่าวไทย

...