ห่วง “โอ่งมังกร” เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมราชบุรีอาจเลือนหาย
ราชบุรี 12 ก.ค.- วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีจับมือผู้ผลิตโอ่งมังกรอนุรักษ์สืบสานงานปั้นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เร่งจัดเก็บข้อมูลมรดกทางปัญญา หวั่นเลือนหายเหลือเพียงตำนาน จากผลิตภัณฑ์ยุคใหม่เข้ามาแทนที่ นางพรรณี มีพรบูชา รักษาราชการแทนวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงกระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายให้วัฒนธรรมจังหวัดจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดว่า ในส่วนของจังหวัดราชบุรีมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม คือ การผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันพบว่าเริ่มมีการผลิตลดลง เนื่องจากวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้โอ่งมังกรได้รับความนิยมในการใช้สอยน้อยตามไปด้วย ทางผู้ประกอบการการผลิตจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้การใช้งานหลากหลายขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้วัฒนธรรมจังหวัดได้เร่งสำรวจโรงโอ่งหรือผู้ประกอบการโอ่งมังกร เพื่อจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาเรื่องดังกล่าวไม่ให้สูญหายไป น.ส.โชติการ ประเสริฐ อายุ 30 ปี ทายาทโรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 ราชบุรี ต.เจดีย์หัก อ.เมือง กล่าวว่า หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สาขาท่องเที่ยว โรงแรมแล้ว ประกอบกับมีความผูกพันกับอาชีพการผลิตโอ่งมังกรมาตั้งแต่สมัยเด็ก แต่ปัจจุบันตามบ้านเรือนใช้โอ่งเป็นภาชนะกันน้อย เพราะมีภาชนะอื่นรูปแบบใหม่และน้ำหนักเบากว่า อีกทั้งช่างปั้นโอ่งมังกรก็น้อยลง อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานจะยังคงการผลิตโอ่งมังกรแบบดั้งเดิมไว้ เพื่อรักษาเอกลักษณ์โอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรีไม่ให้เลือนหายไป และสืบทอดวิชาชีพช่างฝีมือการผลิตโอ่ง เพราะเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นและการปั้นโอ่งต้องใช้ความปราณีตความพิถีพิถัน ไม่เหมือนกับภาชนะรุ่นใหม่ที่ใช้เครื่องจักรการผลิต ดังนั้น โรงโอ่งเถ้าเจี่ยหลี 2 จึงได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและยินดีให้ผู้สนใจหรือสถานศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อศึกษาเรียนการผลิตโอ่งมังกรจากภูมิปัญญาของท้องถิ่น.-สำนักข่าวไทย