กรุงเทพ 5 เม.ย. – เครือข่ายภาคประชาชน เชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แสดงวิสัยทัศน์ดันนโยบาย “เมืองผลิตอาหาร” พร้อมฝากการบ้านให้ผู้ว่าฯ ในอนาคต ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัย
มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สสส. และเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีนโยบายสาธารณะ “ปากท้องของคนกรุงฯ ชวนว่าที่ผู้ว่าฯ ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร” ได้เชิญ 4 ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ,นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นาวาตรีศิธา ทิวารี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ในประเด็นนโยบาย “เมืองผลิตอาหาร”
โดยก่อนที่ผู้สมัครจะแสดงวิสัยทัศน์ ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เสนอประเด็นปัญหาที่ต้องการฝากให้ว่าที่ผู้ว่าฯในอนาคตขับเคลื่อนต่อทั้งประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างพื้นที่อาหารของคนเมือง การจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึง การพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย โครงการเกษตรสวนครัวรั้วกินได้ สนับสนุนให้เกิดรัานค้าสวัสดิการชุมชน 1 เขต 1 ร้านค้า สำหรับกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงอาหาร ต้องการให้สนับสนุนความรู้และเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูกในครัวเรือนเพื่อปากท้อง และอยากให้ช่วยชุมชนเกิดใหม่ในกรุงเทพฯ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนอาหาร เป็นปัญหาที่เกิดกับคนจน โดยตนเองจะใช้นโยบายนำเงินจากการจัดเก็บภาษีที่ดินมาเติมสวัสดิการ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐสวัสดิการ จะทำให้คนจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแล ทำให้คนอยู่ในเมืองได้ โดยไม่ต้องออกไปหาที่อาศัยนอกเมือง ไม่ต้องจ่ายเงินกับการเดินทาง จะได้มีกำลังซื้อ เมื่อมีกำลังซื้อ ก็มีคนอยากจะลงทุน ทำให้เมืองมีความหวังมีอนาคต สุดท้ายเมืองที่คนเท่ากันมีความเป็นธรรม ต้องสร้างกฎกติกาที่เป็นธรรม จะทำให้คนมีแรงจูงใจในการพัฒนาเมือง ส่วนการจัดสรรงบประมาณ มีนโยบายในการจัดงบประมาณลงไปในชุมชน เพื่อให้คนกรุงเทพฯ โหวตว่าอยากจะทำโครงการอะไร ทั้ง 50 เขต ก็จะได้โครงการที่ต้องการ
นางรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครในนามอิสระ กล่าวว่า มีนโยบายกระจายงบประมาณ 50 ล้านบาท ไปยัง 50 เขต เพื่อให้ประชาชนในแต่ละเขตนำเสนอโครงการที่ต้องการทำ จะมีการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าในกทม. จัดสรรเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง สำหรับปลูกพืช ให้มีแหล่งอาหารใกล้ มีโครงการแยกขยะอาหารจากขยะเปียก นำไปผลิตก๊าซชีวภาพและก๊าซหุงต้ม ซึ่งใครที่แยกขยะจะให้ก๊าซ ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน นอกจากนี้ยังได้ปุ๋ยมาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในเมือง ซึ่งการทำเกษตรในเมืองจะทำให้มีอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาคนขาดแคลนอาหาร ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย จะต้องยึดหลักพึ่งตนเองและแบ่งปันกัน จะต้องสร้างแหล่งอาหารและพื้นที่สีเขียวใน กทม. ขณะที่การแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอย จะเลิกไล่จับ จัดที่ให้ขาย เก็บค่าเช่าถูก ให้พ่อค้าแม่ค้าทำอาหารที่มีคุณภาพราคาถูก ช่วยคนในเมืองเข้าถึงอาหารราคาถูก ส่งเสริมการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็ก ตั้งกองทุนให้หาบเร่แผงลอยเข้าถึงเงินกู้ จะได้หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ จะทำทุกวิถีทางให้คนตัวเล็กลุกขึ้นยืนได้ ส่งเสริมหลักสูตรในการพัฒนาตามความต้องการแต่ละชุมชน ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้วิชาในการทำมาหากิน
นาวาตรีศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า จะใช้การจัดงบดัวยเทคโนโลยีบล็อกเชน และให้คนในพื้นที่กำหนดงบประมาณของตัวเอง ให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการบริหาร ส่วนการการจัดการอาหารจะนำที่ดินจองรัฐ ที่ส่วนราชการ และที่เอกชนรกร้างว่างเปล่า นำมาทำสวนสาธารณะ ทำสวนครัวตัวอย่าง ร่วมกัน เอ็นจีโอ ให้คนปลูกจับคู่กับคนที่ต้องการบริโภคพืชผักสวนครัว มาร่วมกันปลูก ทำให้ชาวบ้านมีกิจกรรมมีรายได้ คนที่บริโภคจะเห็นการดูแลสวน และหากตนเองได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. อันดับแรกที่จะทำ คือ เข้าไปดูเรื่องหาบแร่ แผงลอย ซึ่งเป็นจุดแข็งต้องรักษาเอาไว้ จะเปลี่ยนเทศกิจ จากคนที่เข้าตรวจสอบ ให้ไปสนับสนุนให้ประชาชนขายของได้ โดยไม่กีดขวางทางเท้า จะใช้กลไกทุกอย่างนำเสนอสิ่งที่ดีให้ประชาชน ทำให้ กทม. ต้องเป็นเมืองที่ที่ทุกคนอยากมาอยู่อาศัย
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ ไม่สามารถมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวที แต่ได้อัดคลิปมาเปิดในงาน โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า เห็นชัดว่า อาหารในกรุงเทพฯ มีที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าเกิดเหตุขัดข้องแหล่งอาหารถูกตัดขาด เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 ทำให้คนกรุงเทพไม่มั่นคงทางอาหาร ต้นทางแหล่งผลิตอยู่ไกล ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ได้ว่าอาหารนั้นปลอดภัยหรือไม่ ขณะที่ช่วงโควิด-19 ระบาด เห็นถึงการขาดแคลนอาหาร การขนส่งมีปัญหา คนขาดรายได้ เกิดความยากจน ไม่สามารถซื้ออาหารได้ เกิดปัญหาความเลื่อมล้ำด้านอาหาร จึงต้องการเสนอนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เริ่มจากการแยกขยะต้นทาง ซึ่งจะได้ปุ๋ย ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จะได้อาหารพืชผักปลอดสารพิษ สามารถควบคุมการผลิตได้ ทำให้คนมีแรงจูงในในการแยกขยะ ให้ กทม.ไปรับซื้อปุ๋ยจากเพื่อใช้ในสวนสาธารณะ จะต้องมีสวนเกษตรอินทรีย์ใกล้บ้าน เดินทาง 15 นาที หรือ 800 เมตร ใน 2,000 ชุมชน ให้ครอบคลุมทั่วกรุง ให้เช่าพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนทำแปลงเกษตร 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตร จัดให้มีศูนย์ฝึกอาชีพให้ความรู้การทำเกษตรแก่ชุมชน เชื่อมโยงความต้องการ จัดหาตลาดในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ และตลาดของเขต จัดทำธนาคารอาหาร นำอาหารส่วนเหลือ จากร้านอาหาร ห้าง โรงแรม ที่ยังบริโภคได้ มาใส่ไว้ในธนาคารอาหาร ให้กลุ่มเปราะบาง คนในชุมชน หรือคนที่เข้าไม่ถึงอาหาร และคนทั่วไปมาเลือกเลือกซื้ออาหารได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนกรุงเทพฯได้ .-สำนักข่าวไทย