กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- ชาวโซเชียลผงะ! หลังมีผู้โพสต์คลิปอะไรไม่รู้ยั้วเยี้ย จากตัวหมึกสด เจ้าของคลิปอธิบายว่าเป็นพยาธิดุ๊กดิ๊ก มียอดแชร์หลักหมื่น ด้าน อาจารย์เจษฎา เผยความจริงเเล้วไม่ใช่พยาธิ แต่เป็นสเปิร์มของหมึก
“นั่นคือพยาธิหมึกนะจ๊ะ” เสียงในคลิปชัดเจน ขึ้นแคปชั่นว่า “สำหรับคนที่ชอบกินหมึกดิบๆๆ พยาธิชัวร์หาง ดุกดิกเชียว” เป็นข้อความที่ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งโพสต์ หลายคนไม่เชื่อ หลายคนหวาดกลัว ในที่สุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ อธิบายให้ชาวเน็ตเข้าใจ
“ไม่ใช่นะครับ มันไม่ใช่พยาธิในปลาหมึก ซึ่งปกติจะเป็นพยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิอะนิซาคิส) ที่อยู่เป็นตัวเดี่ยวๆ หลายตัว แต่ไม่ได้จับกันเป็นกระจุก เป็นฝักแบบนั้น
แต่สิ่งที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ของปลาหมึกตัวผู้ ที่เรียกว่า สเปิร์มมาโตฟอร์ Spermatophore (หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฝักสเปิร์ม)
ให้นึกถึงเวลาที่เรากิน “ไข่ปลาหมึกทอด” ที่เป็นถุงเป็นก้อนขาวๆ นั้น จะมีทั้งที่เป็นถุงรังไข่ (ovary) ของหมึกตัวเมียและที่เป็นถุงสเปิร์ม (อัณฑะ) ของหมึกตัวผู้
ถ้าเราเอาถุงอัณฑะมาผ่าแยกออก จะเห็นเหมือนท่อยาวๆ สีขาวจำนวนมาก ซึ่งก็คือ สเปิร์มมาโตฟอร์ เรียงอยู่ข้างในนั้น Spermatophore เป็นอวัยวะที่พบในสัตว์หลายชนิด ทั้งกลุ่มแมลง แมงมุม รวมถึงพวกเซฟาโลพอด (พวกปลาหมึกชนิดต่างๆ) ซึ่งตัวผู้จะใช้ในการนำส่งสเปิร์ม (อสุจิ) เข้าไปในตัวเมียในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
สำหรับพวกเซฟาโลพอด ส่วนใหญ่จะใช้แขนเฉพาะที่เรียกว่า helicotilus เพื่อส่งสเปิร์มมาโตโฟร์เข้าไปยังภายในตัวเมีย จากนั้นจะมีกลไกที่ซับซ้อน ในการปล่อยตัวอสุจิ ออกจากสเปิร์มมาโตฟอร์ และอสุจิก็จะเก็บรักษาเอาไว้ภายในตัวเมีย
ตัวเมียตัวหนึ่งอาจจะมีสเปิร์มจากตัวผู้หลายตัวอยู่ภายใน และด้วยความที่สเปิร์มาโตฟอร์สามารถอยู่รอดได้นานภายในร่างกายของตัวเมีย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยก่อน อย่าง จอร์จ คูเวียร์ George Cuvier เข้าใจผิดว่าเป็นหนอนปรสิต และตั้งชื่อให้ว่า Hectocotylus (ภาษาละติน: “Hundred” + “hollow thing”)
สเปิร์มมาโตฟอร์แต่ละอันนั้น ถ้าบีบให้แตกออก จะเห็นว่ามีปลอกชั้นนอกที่ใสๆ กับถุงน้ำเชื้อชั้นในที่ขาวๆ ตรงโคนสเปิร์มมาโตฟอร์ มีกลไกเชือก ซึ่งถ้าดึงหรือบีบมันจะปล่อยถุงชั้นในออกมาอย่างรวดเร็ว ถุงชั้นในพอหลุดจากปลอก จะกลายเป็นแท่งแหลมๆ ขาวๆ เรียกว่า สเปิร์มมาแทนเจีย (spermatangia) ตรงโคนมีกาวเคลือบ เอาไว้ติดหนึบกับเนื้อของตัวเมีย กลไกเหล่านี้ของสเปิร์มมาโตฟอร์ ทำให้เราเห็นในคลิปว่ามันขยับเขยื้อนได้ เหมือนกับเป็นพยาธิ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นแค่อวัยวะหนึ่งครับ” อาจารย์เจษฎา อธิบายสรุปไม่ใช่พยาธิ แต่เป็นสเปิร์มของหมึก.-สำนักข่าวไทย