กทม. 4 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จี้รัฐเร่งหาเจ้าภาพรับมือฝุ่น PM2.5 แนวโน้มน่าห่วงตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.นี้ ชี้ปัญหาผสมโรง ทั้งจราจร ฝุ่นพิษ บวกด้วยโควิด เป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของภาครัฐจะเอาอยู่หรือไม่
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปีนี้ มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย และถ้ามีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดอ่อนกำลังลง แล้วความชื้นสัมพัทธ์สูง ก็จะยิ่งทำให้ ฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงขึ้นปีอีก ประกอบกับช่วงนี้กลับมาเปิดประเทศ เปิดโรงเรียน เปิดการท่องเที่ยวแล้ว ทำให้การจราจรใน กทม. และในเมืองใหญ่หนาแน่นและติดขัด โดยใน กทม.ขณะนี้ มีรถยนต์มีอยู่กว่า 11 ล้านคัน โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ดีเซลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 2.8 ล้านคัน มีรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นใน กทม. อีก 6 แสนคัน ขณะเดียวกันตอนนี้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่หลายสาย ก็ยิ่งส่งผลให้รถติด ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
เดือนนี้ จึงเป็นเดือนแห่งความท้าทาย วัดความสามารถในเชิงการบริหารจัดการของภาครัฐด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากประเด็นฝุ่น PM 2.5 มีแผนวาระแห่งชาติตามมติครม.วันที่ 12 ก.พ.62 และมีแผนเฉพาะกิจตามมติครม.วันที่ 23 พ.ย.63 ที่มาจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวรองรับอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องจับตาดู คือ ในฤดูหนาวนี้ หากปริมาณฝุ่น 2.5 ในเขตกทม.และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ภาคเหนือตอนบนภาคอีสานและภาคกลางรุนแรง หรือมีค่าสูงกว่า หรือมีจุดความร้อนจากการเผามากกว่าในปี 2562 และ 2563 แสดงว่าการปฎิบัติตามแผนดังกล่าวไม่ดี หรือการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ผล ซึ่งเท่าที่เกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลาด จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปฏิบัติการเชิงรุกและมีหน่วยงานเจ้าภาพที่แท้จริง ลงมาแก้ปัญหาหรือรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเผาในพื้นที่โล่งพื้นที่การเกษตร มาตรการควบคุมควันดำจากรถยนต์ ยังไม่เห็นการบังคับใช้กฎหมาย
และที่น่ากังวลกว่าทุกปี คือ ในช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยก็ยังไม่ได้ดีขึ้น และถ้ามีวิกฤติฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นอีก จะยิ่งไปเสริมฤทธิ์กัน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น เพราะโควิดทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ทำลายถุงลมปอด ซึ่งเป็นตัวแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และถ้าหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไปอีก ก็จะไปทะลุถึงลมปอด เข้าไปในเส้นเลือด ไปที่หัวใจและสมอง เกิดการเสริมฤทธิ์กัน จนทำให้เกิดอาการอักเสบทั่วร่างกาย นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลวได้
จึงเรียกร้องให้ รัฐบาลเร่งเตรียมการรับมือ บังคับใช้กฎหมาย และออกมาตรการที่ชัดเจน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าจะต้องป้องกันตัวอย่างไรและช่วยกันทำอะไรบ้างเพื่อลดผลกระทบจากปัญหานี้ให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับของรัฐบาล ก็ต้องระบุให้ชัดว่าจะทำอะไรบ้าง อีกทั้งควรกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปเฝ้าระวังและช่วยดูแลคนในพื้นที่ .-สำนักข่าวไทย