กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – กรมควบคุมโรค กำชับหน่วยงานในสังกัด ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนอาจเจ็บป่วยจาก 3 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และกลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม โดยได้กำชับหน่วยงานในสังกัด ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลาก เตรียมพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานของพื้นที่
วันนี้ (2 ตุลาคม 2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 23 กันยายน 2564 – ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดประสานงานและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี รวมทั้งติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคและภัยที่มากับน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
จากการเฝ้าระวังโรคระบาดที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ระหว่างวันที่ 20-30 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 40 ราย โรคอุจจาระร่วง จำนวน 1,875 ราย โรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 26 ราย โรคตาแดง จำนวน 161 ราย โรคไข้ฉี่หนู จำนวน 6 ราย และโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 222 ราย
กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระมัดระวัง ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วม มีดังนี้ 1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม 2. กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง และ 3. กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือ สัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น รวมถึงต้องระวังการจมน้ำ การขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทางด้วย
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย 1. อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 2. อย่าปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัดต่อยได้ 3. หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตา หรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด 4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และ 5. หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้กำชับไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองระบาดวิทยา กองโรคติดต่อทั่วไป กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยจัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) ตรวจจับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ กรณีเกิดการระบาดของโรค รวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422. – สำนักข่าวไทย