ระยอง 18 ส.ค. กรมสุขภาพจิต จัดประชุมวิชาการสุขภาพจิต ชีวิตวิถีใหม่ “MCATT: New normal ERA” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ หรือ MCATT หวังให้เป็นกำลังสำคัญ ช่วยลดเครียด และอัตราฆ่าตัวตายของคนไทยจากภาวะวิกฤต
นาย สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังเป็นประธาน เปิดประชุมวิชาการสุขภาพจิต ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตสุขภาพจิต และพร้อมรับการแพร่ระบาดซ้ำของ โควิด-19 ในอนาคต ว่า จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่ตั้งแต่วันแรก เพื่อคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง พบว่าจากเหตุการณ์ทหารต่างชาติเข้ามาในประเทศและไม่กักตัว ทำให้ชาวระยองมีความเครียดสูงถึงร้อยละ 9.8 เทียบเท่ากับความเครียดของประเทศไทยทั้งประเทศ ตอนเจอวิกฤตโควิดช่วงแรก กรมสุขภาพจิต จึงใช้โอกาสวิกฤตนี้จัดสัมมนาวิชาการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชน ไม่ให้มีความเครียดสะสม เพราะแม้ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลายลง แต่คนไทย ยังต้องต่อสู้กับภาวะนี้ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคม เกิดความเครียด วิตกกังวล และภาวะหมดไฟ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ภายใต้“แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของCOVID-19 (Combat 4th Wave of COVID-19: C4)” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน ครอบครัว และชุมชน ปลอดภัยจากผลกระทบด้านสุขภาพจิตในวิกฤตครั้งนี้ และมีความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
ทั้งนี้ทีม MCATT จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองและให้คำปรึกษากับประชาชน ให้เข้าถึงการบริการของกรมสุขภาพจิตในทุกมิติ ถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยที่มีความเครียดสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มแรกที่มีอาการ จะสามารถยับยั้งตัวเลขการฆ่าตัวตายให้ลดลงได้เช่นกัน
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยหลาย ด้านรวมทั้งสุขภาพจิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญของปัญหา จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ดูแลเยียวยาจิตใจของประชาชน ภายใต้ “แผนฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากทุกภาคส่วน เน้นใช้มาตรการเชิงรุกใน ดูแลด้านจิตใจและสังคมของประชาชนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ครอบคลุมทั้งมิติส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจในประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ผู้ป่วย COVID-19 สมาชิกในครอบครัว ผู้ถูกกักตัว ผู้เปราะบางทางสังคม บุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินพัฒนาระบบงานวิกฤตสุขภาพจิตระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใน 4 ประเด็น คือ ภาวะเครียด (Stress) ภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) การฆ่าตัวตาย (Suicide) และโรคซึมเศร้า (Depression) และรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ผ่านหอกระจายข่าวและช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ซึ่งได้มีการจัดทีม MCATT ในหน่วยบริการทุกระดับทั่วทุกจังหวัด ทุกอำเภอเพื่อเชื่อมโยงไปกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในการปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤต และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมระบบบริการรองรับวิกฤตสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 อีกครั้ง อย่างมีประสิทธิภาพ .-สำนักข่าวไทย