กรุงเทพฯ 1 ส.ค..-นักวิจัยทลายกำแพงวิชาการนำความรู้ลงสู่ชุมชนเยาวราชต่อยอดสร้างรายได้ ดึงวัฒนธรรมอัตลักษณ์ที่เข้มแข็ง รับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม พร้อมร่วมแสดงผลงานตัวอย่างในมหกรรมวิจัยนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่”ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า หลังการระบาดโควิด-19คลี่คลาย คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยด้านศิลปะการออกแบบ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีร่วมบูรณาการความรู้กลับสู่พื้นที่เยาวราชอีกครั้งต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 เพื่อตอบโจทย์ชุมชนและนำผลงานไปใช้ได้จริงให้มากที่สุด ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลงานศิลปะ ผลิตภัณฑ์ชุมชน และเครือข่ายความร่วมมือด้านวัฒนธรรม อาทิ โครงการขจัดมลพิษบริเวณศาลเจ้าเก่าแก่ในพื้นที่ ฝาท่อริมคลองโอ่งอ่าง ผลิตภัณฑ์เซรามิคสะท้อนอัตลักษณ์จีน เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในชุมชนเจริญไชย ที่เป็นชุมชนเก่าแก่ค้าขายกระดาษไหว้เจ้า ล่าสุดกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพับกระดาษ ‘ตั่วกิม’ กระดาษไหว้เจ้า ในรูปแบบงาน 3 มิติ โดยยังคงให้ความสำคัญและเน้นถึงสัญลักษณ์ความเชื่อทางวัฒนธรรม และต่อยอดสู่การพัฒนาเนื้อกระดาษให้มีคุณสมบัติที่สามารถลดมลพิษจากเผากระดาษในย่านเยาวราชอีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้มอบให้พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่องของชุมชน ทำให้คนในชุมชนตระหนักว่าสามารถที่จะนำมาพัฒนาเป็นเชิงธุรกิจได้ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดี เกษมศุข คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่รับผิดชอบเรื่องการสร้างแผนที่ทางวัฒนธรรม กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดทุกตรอกซอกซอย พบข้อมูลมรดกวัฒนธรรมในเยาวราชทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม ศาลเจ้า ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และมรดกเชิงนามธรรม เช่น ความเชื่อ ตำรับอาหาร ความทรงจำ ฝีมือช่าง เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนและผู้เกี่ยวข้องแล้วจะนำเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จากนั้นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่เยาวราชให้เหมาะสมต่อไป เช่น การกำหนดย่านการค้า ย่านวัฒนธรรม เพื่อให้ผสมกลมกลืนทั้งการใช้ประโยชน์ เศรษฐกิจ สุนทรียศาสตร์ และความสะอาดปลอดภัย
ส่วนงานการออกแบบศิลปะสาธารณะอาจารย์พิเชฐ เขียวประเสริฐ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าได้เปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ 5 คนมาร่วมจินตนาการสร้างงานผูกกับเรื่องราวอัตลักษณ์ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของชุมชน คือ งานศิลปะถ่ายทอดศิลปะอาหารวัฒนธรรมอาหารจีนแคะ ,การนำวัตถุดิบผ้าย่านพาหุรัดของชุมชนมาออกแบบให้มีความร่วมสมัยแต่ไม่ทิ้งความงดงามเดิมต่อยอดสู่ธุรกิจการค้าผ้าที่ประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน , งานศิลปะที่นำเสียง แสง บรรยากาศในย่านเยาวราชอันน่าหลงใหลเพื่อสร้างประสบการณ์สัมผัสแก่นแท้เยาวราช และงานนำเสนอความหลากหลายทางศาสนาของผู้คนในเยาวราช เช่น กลุ่มชาวซิกข์ที่เริ่มเดินทางมาอยู่ในย่านพาหุรัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
เหล่านี้คือผลงานส่วนหนึ่งของทีมนักวิจัย CCC : Creative Cultural City มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจะเข้าร่วมแสดงผลงานภาคนิทรรศการ ในหัวข้อ “พลวัตวิถีเยาวราช สืบทอด เปิดรับ ปรับตัว” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์กรุงเทพฯ .-สำนักข่าวไทย