รพ.สมิติเวช 23 พ.ค. – ผอ.รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ อัพเดตอาการผู้ป่วยเครื่องบินตกหลุมอากาศยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 40 ราย
นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ แถลงความคืบหน้าในการรักษาคนไข้ กรณีการเกิดอุบัติภัยหมู่เครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งเดินทางจากลอนดอนมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง ระหว่างเส้นทางเครื่องบินลำดังกล่าวจึงเปลี่ยนเส้นทางไปกรุงเทพฯ และตกหลุมอากาศ ว่า จำนวนผู้บาดเจ็บที่ยังรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ มี 41 ราย เพศชาย 19 ราย เพศหญิง 22 ราย ประกอบด้วย สัญชาติอังกฤษ 10 ราย, ออสเตรเลีย 9 ราย, มาเลเชีย 7 ราย, ฟิลิปปินส์ 4 ราย, สหรัฐอเมริกา 2 ราย, นิวซีแลนด์ 2 ราย, เมียนมา, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, สเปน สัญชาติละ 1 ราย ซึ่งใน 41 ราย อาการทุเลาลงและให้กลับบ้านแล้ว 1 ราย เหลือผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวอยู่ 40 ราย
นพ.อดินันท์ กล่าวด้วยว่า มีผู้บาดเจ็บของกระดูกสันหลังและไขสันหลัง 22 ราย, บาดเจ็บของกระโหลกศีรษะและสมอง 6 ราย บาดเจ็บของกระดูก กล้ามเนื้อ และอื่น ๆ 13 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 17 ราย เป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังช่วงคอ 5 ราย ผ่าตัดกระดูกสันหลังช่วงอก 4 ราย และซ่อมแซมแผลส่วนที่ฉีกขาด 8 ราย ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและรักษาโดยการประคับประคอง
ทั้งนี้ คนไข้ที่รักษามีหลายรายที่ค่อนข้างรุนแรงอาการยังหนักอยู่ แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรงจนอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และได้ระดมทีมแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยอาการหลักๆ จะเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาคอยดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.67 มีผู้ป่วยสีแดง 6 คน ทั้งนี้ คนไข้บางรายมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแต่เร็วไปที่จะบอกว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องรักษาตัวนานเท่าไหร่ แพทย์จะมีการประเมินอาการทุกวัน คนที่สามารถให้กลับบ้านได้ก็จะให้กลับ ซึ่งในวันนี้แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านไปแล้ว 1 ราย และการดูแลผู้ป่วยจะยึดหลักสิทธิของผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนหรือผู้เยี่ยมจะเข้าไปพบผู้ป่วยจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ป่วยเป็นหลัก
นพ.อดินันท์ กล่าวถึงผู้ป่วยที่อาการหนักที่สุดว่า มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งมีการผ่าตัดไปแล้ว ส่วนการประเมินการรักษาจะต้องประเมินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีอายุตั้งแต่ 2-83 ปี ซึ่งในอาการของผู้ป่วยที่เป็นเด็กไม่น่าเป็นห่วง
ส่วนการประเมินว่าผู้ป่วยจะพิการหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เพราะจำเป็นจะต้องมีการประเมินจากแพทย์และติดตามอาการรายวัน ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังจะต้องมีการดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดเพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยรักษาจนหายดีแล้วและจะเดินทางกลับประเทศต้นทางนั้นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการส่งตัวกลับประเทศต่อไป. -419-สำนักข่าวไทย