ศธ. 24 ม.ค.-รมว.ศึกษา ขอบคุณ นายกฯ ยกเลิกครูเวร ย้ำครูไม่ต้องอยู่ครูเวรแล้ว ไม่ผิดระเบียบใดๆ เผยแนวทางจากนี้ ให้ตำรวจ – อปท. ออกตรวจตราความปลอดภัย เทียบเหมือนโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ แต่นี่เป็นการฝากโรงเรียนไว้กับตำรวจ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ แถลงแนวปฎิบัติการอยู่เวรรักษาการณ์ หลังจากที่ประชุมครม.ได้พิจารณายกเว้นมติ ครม. เมื่อปี 2542 ที่ให้มีการมอบหมายเป็นภาระของครูในการเข้าเวรยาม หลังเกิดกรณี ครูถูกทำร้ายร่างกาย ขณะอยู่เฝ้าเวรโรงเรียนในวันหยุดที่ จ.เชียงราย
โดยหลังประชุม รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี ที่ยกเว้นมติดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา การที่ครูอยู่เวรยามก็มีความเสี่ยง และครูเองก็มีภาระงานหลักคือการสอนหนังสือ โดยมติ ครม. เมื่อวานมีทันที จากนี้ครูไม่ต้องอยู่เวรยามแล้วไม่ผิดวินัยหรือผิดระเบียบแต่อย่างใด ซึ่งแนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ ส่วนของ ศธ.ได้มีหนังสือไปที่ สตช.และมหาดไทย ให้เข้ามาดูแลสถานที่โรงเรียนและส่วนท้องถิ่น และได้สั่งการให้สถานศึกษา มีการประชุมร่วมโดยเชิญ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาวางแนวทางรักษาพื้นที่โรงเรียน ซึ่งครอบคลุมส่วนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั้งหมด แนวทางจะเน้นการเป็นตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ เทียบกับการฝากโรงเรียนไว้กับตำรวจ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการมีสายตรวจของตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อให้คนร้ายเกรงกลัว ป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น หากเกิดเหตุหลังจากนี้ เช่นทรัพย์สินในโรงเรียนสูญหาย ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบว่าใครประมาทเลินเล่อ ก็จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะตามหลักเมื่อเสร็จภารกิจในโรงเรียน ก็ต้องมีการปิดประตู ล็อกห้อง เพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนใดที่มีงบจ้าง รปภ.ดูแลก็ทำต่อไป
ถามต่อว่า จำเป็นจะต้องติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม หรือไม่ รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องกล้องวงจรปิดก็มีความสำคัญ แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ทำให้เกิดความปลอดภัยได้ 100% และบางพื้นที่ก็ไม่พร้อม เช่น โรงเรียนอยู่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณ หรือไฟฟ้า จะทำอย่างไร เพราะการติดกล้องวงจรปิดโดยพื้นฐานต้องมีไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต มองว่าอาจไม่จำเป็นจะอยู่ทุกโรงเรียน และการมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยของตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่สำคัญ
ส่วนบางโรงเรียนที่ไม่มีตำแหน่งเจ้าหน้าที่นักการภารโรง และจะมีการเสนอขอ ครม.ต่อไปนั้น อยู่ระหว่างการหาข้อมูลอย่างละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับจำนวนตำแหน่งทั่วประเทศ ก่อนจะเสนอขอมติจากครม. โดยเบื้องต้นจะขอให้เพิ่มตำแหน่งนักการภารโรงจำนวน 12837 ตำแหน่ง ในกว่า 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เน้นไปที่โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ยังไม่มี พร้อมพิจารณาทบทวนค่าจ้างเพิ่มเติมจากเดิม ที่กำหนดไว้ 9 พันบาท โดยจะปรับขึ้นเป็น 1 หมื่นบาทเพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงชั้นต่ำ.-417.-สำนักข่าวไทย