สธ. 12 ต.ค.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนประชาชนที่นิยมเที่ยวกางเต็นท์นอนในป่าเขาระวังไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วย “ไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส” รุนแรงถึงตายได้
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนนักท่องเที่ยวที่ชอบกางกางเต็นท์นอนในพื้นที่ป่าภูเขาให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส (Scrub typhus) โดยไรอ่อนนี้จะอาศัยอยู่ในสัตว์รังโรค คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต กระรอก เป็นต้น เมื่อกัดคนจะปล่อยเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) มีระยะฟักตัวประมาณ 6-21 วัน แต่โดยทั่วไปประมาณ 10-12 วัน ไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และคอ ซึ่งเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เพราะมีขนาดเล็กมากราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น อาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัด มีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ไต ตับ ม้ามโต และผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ ตรงบริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มีสีแดงคล้ำ เป็นรอยบุ๋ม แต่ไม่ปวดและไม่คัน เป็นลักษณะเฉพาะของโรค ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง ส่วนผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-50 อาจจะมีอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ ช็อก และเสียชีวิตได้
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า จากข้อมูลการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่เดือน ก.ย.65-ส.ค.66 จำนวน 1,041 ตัวอย่าง เฉลี่ยประมาณ 87 ตัวอย่างต่อเดือน โดยมีตัวอย่างส่งตรวจมากที่สุดเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 12.58 รองลงมาได้แก่เดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 11.91 และเดือนมีนาคม ร้อยละ 8.93 โดยผลการตรวจในภาพรวมตลอดทั้งปี พบการติดเชื้อโอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ (Orientia Tsutsugamushi) สาเหตุของโรคสครับไทฟัส ร้อยละ 1.10 ซึ่งพบรายงานการติดเชื้อในเดือนธันวาคม 2565 มากที่สุดร้อยละ 5.31 รองลงมาได้แก่เดือนตุลาคม 2565 ร้อยละ 3.57 และเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 1.53 สำหรับการติดเชื้อริกเก็ตเซีย ไทฟี (Rickettsia Typhi) สาเหตุของโรคมิรีนไทฟัส ผลการตรวจในภาพรวมตลอดทั้งปี พบเพียงร้อยละ 0.10
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียในประเทศไทย พบโรคสครับไทฟัสได้มากกว่าโรคมิวรีนไทฟัส โดยตรวจพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการท่องเที่ยวป่าภูเขา หรือเป็นช่วงที่มีการกระจายของพาหะของโรค ได้แก่ ไรอ่อน ตามพื้นที่ทางการเกษตร หรือปศุสัตว์ ทั้งนี้จากแนวโน้มการส่งตัวอย่างตรวจที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขได้พัฒนาการผลิตชุดตรวจโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียขึ้นเอง จากการเพาะเลี้ยงเชื้อริกเก็ตเซีย สำหรับงานบริการตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้เพียงพอ และรองรับการตรวจวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถผลิตชุดตรวจสนับสนุนให้กับห้องปฏิบัติการเครือข่าย และจำหน่ายให้กับห้องปฏิบัติการเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ให้สามารถตรวจได้รวดเร็ว เพื่อการรักษาได้ทันเวลา ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในกลุ่มไข้ไม่ทราบสาเหตุ และช่วยวินิจฉัยได้ถูกต้อง แม่นยำ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ด้วยวิธี เรียลไทม์ พีซีอาร์ (Real time RT-PCR) ซึ่งมีความไวความจำเพาะสูง เพื่อเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์กางเต็นท์ นอนในป่า หรือไปทำมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทายากันยุง ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้าให้ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร diethyltoluamide (DEET) ซึ่งจะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้เช่นกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง และหลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ ทั้งนี้ หากไปเที่ยวป่าเขากลับมาแล้วมีอาการไข้ หรืออาการข้างต้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้. -สำนักข่าวไทย