กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – “โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส” เป็นเมนูอาหารว่างที่คิดค้นสูตรโดยทีมลูกชะมวง มีคณะอาจารย์และนักศึกษา แผนกคหกรรมและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ร่วมกันรังสรรค์คิดค้นสูตรนี้ขึ้นมา ด้วยการผสมผสานโครเก็ต อาหารว่างของฝรั่งเศส เข้ากับพะแนง ซึ่งเป็นเมนูอาหารไทย
โดยวัตถุดิบหลักในการทำ “โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส” ประกอบด้วย โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ขนุนอ่อน ธัญพืช ข้าวหอมมะลิ ถั่วลูกไก่ ถั่วขาว ข้าวโพดข้าวเหนียว อะโวคาโด และน้ำตาลโตนด
นางสาวมานิดา หยาดทอง อาจารย์หัวหน้าแผนกคหกรรมและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคระยอง บอกว่า การคิดค้นเมนูโครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส ขึ้นครั้งนี้ถือหลักแนวคิดเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้เป็นผลิตผลทางเกษตรของเกษตรกรในจังหวัดระยอง จากการปลูกพืชหมุนเวียนของเกษตรกร อาทิ มันเทศ ถั่วลิสง ข้าวโพด นำมาผสมผสานให้เป็นฟิวชั่นโครเก็ต อาหารว่างของฝรั่งเศส จนได้เป็นเมนูโครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส ในรูปแบบไฟน์ ดินนิ่ง ที่นำมันเทศมาใช้แทนมันฝรั่ง และใช้โปรตีนทดแทนจากขนุน เห็ด ธัญพืช และข้าวหอมมะลิไทย มาทำโครเก็ตราดด้วยซอสพะแนงชุ่มฉ่ำ ที่ให้รสอร่อย กรอบนอก นุ่มใน มีโปรตีนสูงจากธัญพืชที่หลากหลาย มีสารต้านอนุมูลอิสระเบตาแคโรทีนสูง
ส่วนขั้นตอนการทำโครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส เริ่มจากการนำวัตถุดิบหลัก ซึ่งมีมันเทศ ถั่วลิสง หรือข้าวโพด นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องแกงของพะแนง นำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ คลุกเกล็ดขนมปัง รวมทั้งใบมะกรูด ใบโหระพา ก่อนจะนำไปทอดในน้ำมันมะพร้าว จากนั้นนำขึ้นมาราดด้วยซอสพะแนงที่ทำจากการเคี่ยวกระทิเข้ากับพริกแกง น้ำตาล ถั่วลิสง จนเป็นเนื้อเดียวกัน กลายเป็น “โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส” ลงจานภาชนะและตกแต่งด้วยดอกไม้ที่กินได้ พร้อมเสิร์ฟ
“โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส” ผลงานการคิดค้นสูตรเมนูอาหารของอาจารย์และนักศึกษา แผนกคหกรรมและโภชนาการ วิทยาลัยเทคนิคระยอง ถือเป็นหนึ่งสุดยอดเมนูที่ได้รับคัดสรรเพื่อเตรียมนำเสิร์ฟเป็นอาหารว่างแก่คณะผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และถือเป็นความภาคภูมิใจอีกชิ้นหนึ่งของวิทยาลัยเทคนิคระยอง ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานการประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลกในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้มีการประกวดสตาร์ทอัพด้านอาหารอนาคต ภายใต้แคมเปญ “Plate to Planet จานนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพด้าน Soft Power อาหารไทย ในนิทรรศการ APEC Future Food for Sustainability
เมนูอาหารอนาคตจากตัวแทนของผู้เข้ารอบ 21 ทีม เป็นเมนูที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เมนูเสริมสุขภาพ และเมนูอาหารที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของวัตถุดิบที่มาจากประเทศไทย รวมทั้งยังรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ 8 เมนูนี้ ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก 5 สี โปรตีนสูง, ราเมงจากเส้นโปรตีนไข่ขาว ไร้แป้ง เหมาะกับคนรักสุขภาพ, ไอศกรีมปราศจากนม เพิ่มรสชาติด้วยผักเคล และเสาวรส, ห่อหมกวีแกนเพื่อสุขภาพ, ขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลเสริมใยอาหารและโพรไบโอติกส์, โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส, ก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย โซเดียมต่ำ ภูมิปัญญาชุมชน, ไอศกรีมจากโปรตีนจิ้งโกร่ง
นำสุดยอดอาหารของไทยรับรองผู้นำเอเปค
ส่วนงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (Gala Dinner) เมนูอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ และคู่สมรส นำเสนอโดยเชฟชุมพล แจ้งไพร จะมีความสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทย ได้แก่ 1.Open เปิดประสบการณ์อาหารไทยในทุกมิติ นำเสนอรสชาติที่กลมกล่อม ประกอบด้วย 8 รสชาติ ได้แก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ปร่า ขม และจืด 2.Connect คัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตท้องถิ่นทั่วประเทศไทย รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” เพื่อนำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของไทยที่เป็นครัวของโลก และ 3.Balance การรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ผ่านการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งประเทศไทยได้นำเป็นแนวทางเพื่อสร้างหุ้นส่วน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เชฟชุมพล บอกว่าวัตถุดิบที่ใช้จะเป็นของไทยทั้งหมดมาจากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ใช้แนวคิด BCG โมเดล โดยแขกวีไอพีที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงมีประมาณ 400 คน มีอาหาร 4 คอร์ส ซึ่งมีอาหารขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของไทย ทั้งข้าวซอย ต้มข่าไก่ ต้มยำ ขนมหม้อแกงเผือกภูเขา ผักจากโครงการหลวง ไข่ปลาคาเวียร์จากโครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เนื้อจากโพนยางคำ ปลากุเลาจากตากใบ รวมถึงเครื่องดื่มเป็นไวน์ไทยจากเขาใหญ่ โดยจะมีแพลนต์เบส สำหรับแขกที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ใช้ทีมงานทั้งหมด 300 คน ในการรังสรรค์เมนูต่างๆ
โดยการประชุมเอเปค 2022 เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก กำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2565 ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ภายใต้คำขวัญ “เปิดกว้าง-สร้างสัมพันธ์-เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open Connect Balance โดยสถานที่จัดงานคือ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.-สำนักข่าวไทย