ระยอง 23 ก.พ. – SPRC ปฏิบัติการอุดรอยรั่วท่อส่งน้ำมันดิบเป็นวันที่ 2 ใช้เวลาปฏิบัติภารกิจ 15-20 นาที จากการสำรวจบริเวณท่อส่งน้ำมันไม่พบรอยรั่วเพิ่มเติม โดย การปฏิบัติภารกิจทั้งหมดจะใช้เวลา 11 วัน
นี่คือภาพการปฏิบัติการใต้ทะเลของและบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันดำน้ำลงไปยังจุดเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันรั่วใต้ทะเลที่ความลึก 25-30 เมตร เพื่ออุดรอยรั่วท่อส่งน้ำมันดิบที่เกิดเหตุขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา วันนี้ถือเป็นวันที่ 2 ของการปฏิบัติการ หลังภารกิจแรกเมื่อวานนี้เตรียมปิดวาล์วทั้ง 3 ตัว และเริ่มดูดน้ำมันออกจากท่อที่ประมาณการตกค้างไว้ 12,000 ลิตร จากการสำรวจบริเวณท่อส่งน้ำมันไม่พบรอยรั่วเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดจะใช้เวลา 11 วัน
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เปิดเผยว่า เตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินหากเกิดผิดพลาด โดยติดตั้งบูม 5 เส้น ความยาว 200 เมตร รอบทุ่นลอยขนถ่ายน้ำมันตลอดเวลา และใช้เรือลากจูงจากกองทัพเรือ 10 ลำ ติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนเรือ 3 ลำ หากเกิดรั่วไหลในทะเล และติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือที่เก็บน้ำมันผสมน้ำได้ 100,000 ลิตร/ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเรือรับคราบน้ำมันที่สูบขึ้นจากทะเล ที่รับน้ำมันผสมน้ำได้ถึง 600,000 ลิตร และคิดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั๊มดูดคราบน้ำมันออกจากเต็นท์ใต้ทะเล นอกจากนี้ยังเตรียมเรือหลวงหนองสาหร่ายเฝ้าระวังและบันทึกภาพการทำงานใต้ทะเล และนักประดาน้ำ 24 คน ให้พร้อมตลอดเวลา
ทช. เร่งกู้เรือบรรทุกน้ำมัน “ป. อันดามัน 2”
ส่วนกู้เรือบรรทุกน้ำมันชื่อ “ป. อันดามัน 2” ที่ล่มกลางทะเลใน จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าการกู้จะแล้วเสร็จกลางเดือน มี.ค.นี้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 2 ของแผนการกู้เรือ “ป. อันดามัน 2” เมื่อวานนี้นักประดาน้ำถอดอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับเรือ ป. อันดามัน 2 ออกทั้งหมด พร้อมใส่อุปกรณ์กลับในตำแหน่งที่ถอดออก
ทั้งนี้ บริษัท พี.เค มารีน คอนสตรัคชั่น อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้รับจ้างเก็บกู้ ได้เก็บกู้น้ำมันจากเรือ ป. อันดามัน 2 จำนวน 8 ถัง โดยสูบใส่เรือวีนัส 24 เสร็จสิ้นเรียบร้อย ไม่มีน้ำมันในถังสินค้าของเรือ ป. อันดามัน 2 ปริมาณน้ำมันที่กู้ขึ้นมารวม 155,215 ลิตร
สำหรับแผนการกู้เรือ ป. อันดามัน 2 กรมเจ้าท่าสั่งการให้บริษัทกู้เรือ ป. อันดามัน 2
- 26-28 ก.พ. นำเรือลากจูงเข้าประจำตำแหน่ง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ลากจูง
- 1-3 มี.ค. เตรียมอุปกรณ์อัดอากาศลงไปติดตั้งที่ตัวเรือ เพื่อพยุงเรือลอยขึ้น
- 3-4 มี.ค. ลากจูงเรือไปยังตำแหน่งที่น้ำลึก 15-20 เมตร
- 4-6 มี.ค. นักประดาน้ำปลดอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากเรือ ทิ้งสมอยึดเรือไว้
- 6-9 มี.ค. นักประดาน้ำติดตั้งอุปกรณ์อัดอากาศ เพื่อให้เรือลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ
- 9-14 มี.ค. นักประดาน้ำดำสำรวจเรือ อุดรอยรั่ว ดูดน้ำออกจากเรือ เพื่อให้เรือลอยสู่ผิวน้ำในสภาพที่ลากจูงได้
- 14-16 มี.ค. ถอดอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากเรือ ส่งมอบให้เจ้าของเรือ
จากการติดตามของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จ.ชุมพร ซึ่งประสานข้อมูลผ่านเครือข่ายต่างๆ ไม่พบคราบน้ำมันที่ผิวน้ำและบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งไม่พบคราบน้ำมันกระจายไปสู่แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังใน จ.ชุมพร แต่จะต้องวางแผนลำดับต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
ตลอดการกู้เรือศูนย์ ทช. อ่าวไทยตอนกลาง และสำนักงาน ทช.ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) จะประสานข้อมูลกับหน่วยงานใน จ.ชุมพร ผ่านเครือข่ายต่างๆ ตรวจสอบพื้นที่โดยตลอด ซึ่งกรม ทช. เตรียมพร้อม โดยนำเรือ ทช.218 ทช.303 และเรือ สวพ ว.301 ไว้รองรับสถานการณ์ในกรณีเหตุเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย