พิษณุโลก 13 มิ.ย. – ชาวบ้านท่าโพธิ์ จ.พิษณุโลก สืบสานประเพณีหล่อน้ำตาลทรายเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีแบบโบราณ ใช้แม่พิมพ์ไม้อายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันแทบจะเลือนหายไปตามกาลเวลา
ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านท่าโพธิ์ หมู่ 8 ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านร่วมกันสืบสานการหล่อน้ำตาล ในงานบุญสลากภัต ซึ่งหาดูยากและใกล้จะสูญหายไปตามกาลเวลา โดยมีนายพุฒิพงศ์ สิงห์โต ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลจอมทอง พร้อมด้วยนายอนุชา เรืองหิรัญ ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก นำแบบพิมพ์ไม้แกะสลักของต้นตระกูลที่ยังคงเก็บรักษาไว้ อายุกว่า 100 ปี มาร่วมหล่อน้ำตาลเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีแบบโบราณ ซึ่งใช้ในงานบุญสลากภัต หรือเทศน์มหาชาติ
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในอดีตน้ำตาลทรายหายาก และการถวายภัตตาหารให้พระไว้ได้ฉันนานๆ อย่างเช่น น้ำตาลทราย เพื่อให้พระได้ฉันกับน้ำปานะ เช่น น้ำชา จึงเกิดภูมิปัญญาไทย คิดค้นการนำไม้มาแกะเป็นรูปต่างๆ เช่น สัตว์ในนิยาย หนุมาน ครุฑ หงส์ สิงห์ ไก่ เจดีย์ ฯลฯ ซึ่งแม่พิมพ์ที่นำมาใช้นี้เป็นแม่พิมพ์โบราณ อายุกว่า 100 ปี เป็นการอนุรักษ์วิธีแบบโบราณ แม่พิมพ์จะเรียกว่า “พิมพ์” หรือ “พุ่ม” ถ้าเป็นพุ่ม ส่วนใหญ่จะใช้ไม้แกะประกอบกันสี่ด้าน มองออกมาได้สี่ด้าน ถ้าเป็น “พิมพ์” จะใช้ไม้แกะสองด้านประกบ มองได้สองด้าน
วิธีกวนแบบโบราณ ใช้สีผสมอาหารเล็กน้อยให้ดูมีสีสัน เคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำจนจับตัวได้ที่ กรอกลงไปในพิมพ์ หรือ พุ่ม วิธีการสำคัญที่เป็นเทคนิคเคล็ดลับที่บางคนไม่เคยทำก็คือ ก่อนจะหยอดน้ำตาลลงไป ต้องเอาพิมพ์ หรือ พุ่ม แช่น้ำก่อน ถ้าไม่ทำแบบนี้ น้ำตาลจะแกะออกยาก และจะแตกหักเสียหาย วันนี้ก็เลยมาโชว์สาธิตการทำ เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ไว้. – สำนักข่าวไทย