กรุงเทพฯ 17 ก.ค. – “พัชรินทร์” ขออย่าโฟกัส แค่ประเด็น “ฉีดไข่ฝ่อ” ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อฉีดนักโทษข่มขืนให้ใช้การไม่ได้ ย้ำ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” จะเป็นพระเอก ช่วยอุดช่องว่างกฎหมาย ไม่ให้กลับมาทำผิดซ้ำ
ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 ปทุมวัน บางรัก สาทร ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายป้องกันการทำผิดซ้ำฯ ควบคู่กับกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ชื่อ ดร.ส้ม พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 กทม. โดยตอบคำถาม ที่หลายคนยังเข้าใจว่า “กม.ฉีดไข่ฝ่อ” มีเป้าหมายคือฉีดนักโทษข่มขืนให้ใช้การไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่
ทั้งนี้เมื่อตนเข้ามาเป็น ส.ส. ใหม่ๆ ได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกข่มขืนกระทำชำเรา เพื่อศึกษาปัญหานี้โดยเฉพาะ มีผู้เข้าร่วมทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็ได้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานี้ออกมา ซึ่งการใช้ยาลดฮอร์โมนเพศ ก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอ แล้วส่งไปให้กระทรวงยุติธรรม จากนั้นตนจึงเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” ต่อสภา พร้อมกับกระทรวงยุติธรรม ก็คือกฎหมาย ที่เรียกกันว่า “กม.ฉีดไข่ฝ่อ”
ซึ่ง “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” ชื่อก็บอกชัดแล้วว่า เป้าหมายของกฎหมาย คือป้องกันคนที่ออกจากเรือนจำแล้วไม่ให้ไปทำผิดซ้ำอีก ดังนั้นในช่วงของการลงโทษ ก็ยังคงเป็นไปตามกฎหมายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ตอนใกล้จะปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ กฎหมายนี้จะออกมาทำหน้าที่เป็นพระเอก
ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่า นักโทษคนนี้กลับตัวกลับใจได้ ไม่น่าจะทำผิดซ้ำแล้ว ก็ปล่อยตัวไปตามปกติ แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่า เสี่ยงจะไปทำผิดซ้ำอีก ก็จะใช้มาตรการต่างๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายนี้ ซึ่งถ้าไม่มี “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้เลย ถึงเวลาปล่อยตัวก็ต้องปล่อย แม้จะรู้อยู่แล้วว่าปล่อยไปก็ทำผิดซ้ำอีก เพราะเข้าออกคุกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำอะไรต่อได้ ต้องปล่อยอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มา
แต่ถ้ามี “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” จะทำให้รัฐมีอำนาจในการพิจารณาได้ว่าบุคคลที่จะถูกปล่อยตัวนั้น สมควรปล่อยแล้วหรือยัง ถ้ายังเป็นอันตรายต่อสังคมก็สามารถ “คุมขังต่อไป” แม้จะพ้นโทษแล้ว หรือถ้ายังเสี่ยงจะทำผิดซ้ำแต่ไม่มาก ก็อาจใช้มาตรการ “เฝ้าระวัง” แทนการคุมขัง เช่น ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว, ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย, ห้ามเข้าเขตกำหนด, ต้องแจ้งเมื่อเปลี่ยนที่ทำงาน, ห้ามออกนอกประเทศ เป็นต้น หรือถ้าใครอยู่ระหว่างเฝ้าระวัง แล้วมีท่าทีว่าใกล้จะทำผิดซ้ำอีก ก็สามารถ “คุมขังฉุกเฉิน” ได้เลย เพื่อจะได้ป้องกันภัยได้ทันท่วงที
ส่วนประเด็นเรื่องของ “ฉีดไข่ฝ่อ” ไปอยู่ตรงไหน ดร.พัชรินทร์ ระบุว่า ระหว่างอยู่ในเรือนจำ นักโทษที่มีความผิดปกติทางจิต หรือทางกายอาจได้รับการ “แก้ไขฟื้นฟู” เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก ตาม “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” โดยอาจใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นตามที่กำหนด ซึ่งตรงมาตรการทางการแพทย์นี้เอง ที่จะสามารถใช้ “ยาลดฮอร์โมนเพศ” หรือที่เรียกกันว่า “ฉีดไข่ฝ่อ” ได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ และได้รับความยินยอมจากผู้กระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ฉีดไข่ฝ่อ” เป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งในการป้องกันไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำเท่านั้น และโอกาสที่จะเข้าเคส “ฉีดไข่ฝ่อ” ก็ถือว่าน้อยมากๆ
ดร.พัชรินทร์ ย้ำว่า “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” ไม่ได้ใช้กับนักโทษทุกคน แต่ใช้กับความผิด 3 กลุ่มคือ 1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา, การทำอนาจาร 2. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย เช่น การฆ่าคนตาย , การทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส และ 3. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น การเรียกค่าไถ่
จะเห็นได้ว่า “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำ” ออกมาเพื่ออุดช่องว่างก่อนการปล่อยตัวนักโทษกลับสู่สังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ออกมาทำผิดซ้ำอีก เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้สังคมมากขึ้น ตนจึงได้ย้ำเสมอว่าอย่าโฟกัสแต่ประเด็น “ฉีดไข่ฝ่อ”
สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ทุ่มเทกับเรื่องนี้อย่างมาก และเตรียมการเพื่อรองรับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ .-สำนักข่าวไทย