รัฐสภา 31 พ.ค.-“พิธา” ย้ำไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 66 ชี้ รัฐบาลจัดงบไม่ตอบโจทย์ฟื้นประเทศ เปรียบช้างป่วยที่ดูแลไม่ได้ ติงเบี้ยหวัดบำนาญบำนาญข้าราชการสูงเท่างบกระทรวงศึกษาทั้งกระทรวงที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2566 โดยชี้แจงเหตุผลที่ไม่อาจรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ได้ ว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ นับเป็นปีแห่งความหวังแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประชาชน หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ขณะเดียวกันปีหน้าจะเลือกตั้งใหญ่ ในจังหวะที่ประเทศกำลังมีความหวัง “น้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก” แต่กระบวยตักน้ำซึ่งหมายถึงการลงทุนเล็กไม่สามารถตักน้ำได้ ซึ่งงบประมาณปีนี้เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องลงทุน แต่เวลาในการศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมีเพียงไม่กี่วันเสมือนเป็นส.ส.ตาบอดคลำช้าง
นายพิธา อภิปรายถึงโครงสร้างงบประมาณของประเทศ ในการใช้ภาษีของประชาชนเรียกว่า “ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้” เนื่องจากรายได้ผันผวน ส่งผลต่อการกู้ที่หลุดกรอบ จากรายได้ที่ประมาณการจัดเก็บ 2,490,000 ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่าย 3,185,000 ล้านบาท ทำให้จะต้องกู้ 695,000 ล้านบาท ส่วนงบเบี้ยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ มูลค่ากว่า 322,790 ล้านบาท เป็นวงเงินที่สูงเท่ากับงบของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวงที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ นี่คือปัญหาช้างป่วยที่ดูแลไม่ได้
นายพิธา ยกตัวอย่างถึงโครงสร้างงบประมาณในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ว่า 3 ใน 4 ส่วนของงบประมาณทั้งหมดเป็นรายจ่ายประจำ แม้จะเกิดวิกฤติใด ๆ การจัดงบประมาณไม่ได้ตอบสนองต่อวิกฤติหรือโอกาสในปีต่อไป ขณะที่โครงสร้างรายจ่ายจะเห็นว่าเรื่องเงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2557 สะท้อนว่าเป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว เป็นยาขมที่ทุกคนต้องกลืน ขณะที่งบประมาณด้านการเกษตรส่วนใหญ่เป็นงบของอดีตไม่ใช่งบของอนาคต ส่วนงบกระทรวงวัฒนธรรมเน้นสร้างคุณธรรมจริยธรรม แต่ไม่ได้เน้นสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรืองบซอฟพาวเวอร์ มีอยู่ 60 ล้านบาท
นายพิธา กล่าวว่าสำหรับการจัดทำงบประมาณแห่งความหวัง ต้องจัดสรรงบประมาณที่กระจายโดยไม่กระจุก เป็นงบที่มาจากข้างล่างขึ้นบน เป็นงบจากข้างนอกเข้าหาตัวเรา เช่น ปัจจุบันการแบ่งรายได้ อปท.อยู่ที่ 70 ต่อ 30 ซึ่งจะมีรายได้สุทธิ 700,000 ล้านบาท เฉลี่ย 7,850 องค์กรส่วนท้องถิ่นละ 89 ล้านบาท หากเปลี่ยนเป็น 50 ต่อ 50 เพราะจะมีรายได้สุทธิ 1,200,000 ล้านบาทเฉลี่ยรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 153 ล้านบาททันที ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะนำไปแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้ตรงจุด ทั้งการทำน้ำประปา การกำจัดขยะ หรือชลประทานย่อย ถือเป็นการระเบิดระบบเศรษฐกิจ.-สำนักข่าวไทย