เปิดร่างกฎหมายเลือกตั้ง

กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – เปิดร่างกฎหมายเลือกตั้ง กฤษฎีกาแก้ไข ตัดอำนาจ กกต.ยุบพรรคก่อนประกาศผล กำหนดบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องแตกต่าง บัตรบัญชีมีชื่อ-โลโก้พรรค แก้บัตรเขย่งไม่ต้องนับหรือลงคะแนนใหม่ พร้อมเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีช่วยพรรคเล็ก ส่งหนังสือแจ้ง กกต.เปิดรับฟังความเห็น ก่อนยืนยันกลับไปสำนักเลขาฯ ครม. ภายใน 5 วัน


วันนี้ (18 ม.ค.) มีรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่…)พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ของสำนักงาน กกต. เสร็จสิ้นแล้ว และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มกราคม 2565 แจ้งมาถึงเลขาธิการ กกต. ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ มีการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ สมควรที่ กกต. จะได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติม และขอให้ กกต. แจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่ตรวจพิจารณาแล้วไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างกฎหมาย พร้อมจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายและแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจและยกร่างขึ้นใหม่นั้น มีทั้งสิ้น 32 มาตรา สาระสำคัญกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน เป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กำหนดเขตละ 1 คน และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน เป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ ให้ กกต. ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขต และของพรรคการเมือง ที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไป เพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย และให้ กกต. หารือหัวหน้าพรรค และให้มีการทบทวนการกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจำเป็นสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุก 4 ปี แก้ไขมาตรา 73 ให้การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งครอบคลุมถึงผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง


การกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยการออกเสียงลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละ 1 ใบ ซึ่งต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตต้องมีช่องทำเครื่องหมาย และหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีการทำช่องเครื่องหมายและหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมือง พร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

การแก้ไขปัญหาบัตรเขย่ง มีการกำหนดให้ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน เมื่อ กกต. ได้รับรายงานจากคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่ กกต. จะมีความเห็นว่าไม่ตรงกันนั้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต และไม่ได้ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะสั่งให้ยุติก็ได้

การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กำหนดไว้ 4 ขั้นตอน 1.ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกัน 2.หารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อ ส.ส.บัญชี 1 คน 3.นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน โดยให้ถือผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ 4.หากจัดสรรแล้วยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากคำนวณในขั้นตอนที่ 3 พรรคใดมีเศษจำนวนมากที่สุดให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน เรียงตามลำดับจนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คน
5.กรณีถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันแล้วจะทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวน และเมื่อ กกต. ตรวจสอบแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ให้ประกาศผลผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ยกเลิกมาตรา 131 ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เดิม ที่กำหนดว่าภายใน 1 ปี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่ เพราะเหตุการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่


นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขตัดอำนาจ กกต. ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ในมาตรา 132 เดิม ที่กำหนด หาก กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค มีส่วนรู้เห็นปล่อยปละละเลยให้ผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคหรือสั่งให้ผู้สมัครพรรคการเมืองระงับการดำเนินการที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรมนั้น ให้เหลือเพียงหาก กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการนั้นเป็นการชั่วคราวมีระยะเวลา 1 ปี และหากเป็นการกระทำเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้กับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และไม่ให้นำคะแนนมาคำนวณจำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

นอกจากนี้ยังกำหนดในลักษณะของบทเฉพาะกาล ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ซึ่งมีอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ ถ้ายังคงมีผลใช้บังคับต่อไป สำหรับการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และการดำเนินการใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส 2561 ให้มีผลใช้บังคับได้กับการดำเนินการเพื่อการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นภายหลังวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม การตรวจแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกามีการตัดหลายประเด็นที่ กกต. เสนอ อาทิ การลดเวลาการเลือกตั้งเหลือ 08.00-16.00 น. ระยะเวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 90 วัน วิธีการรับสมัครและการได้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไขในหลายมาตราที่ กกต.ไม่ได้มีการเสนอ เช่น การตัดอำนาจ กกต. ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง การกำหนดลักษณะบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตรวจและยกร่างไหม่ รวม 5 มาตรา สาระสำคัญเป็นการแก้ไขมาตรา 51 เกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยกำหนดให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัคร และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แล้วประกาศให้สมาชิกทราบ โดยผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อได้แก่คณะกรรมการบริหารพรรคหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

ส่วนการคัดเลือกผู้สมัคร กำหนดให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 10 รายชื่อ ซึ่งการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 15 คน เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ประกาศผลการนับคะแนนของสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นแล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาโดยเร็ว แล้วยังมีการกำหนดให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่มีผลกระทบต่อการสรรหาสมาชิก ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มีอยู่แล้ว หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.ป.แก้ไขเพิ่มเติมนี้ใช้บังคับ .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง