ทำเนียบรัฐบาล 30 ธ.ค.-“วิษณุ” ระบุศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสินปมวาระนายกฯ ส่วนปี 65 ไม่กังวลปัญหาสภาสมัยประชุมนี้ แต่สมัยประชุมหน้าห่วงเรื่องงบประมาณ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรทำความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปถึงปี 2570 ว่า เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องทำหน้าที่ของเขา ส่วนคำตอบสุดท้ายขึ้นอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในส่วนของรัฐบาลต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฏีกา แต่ก็ยังไม่ทำ
“มีข้อสงสัยกันมานานแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีสิทธิหาคำตอบ แต่ที่ต้องให้เกิดความเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับกับสาธารณชน ต้องมาจากคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจคือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแม้นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ส.ส. แต่ก็มีที่มาจาก ส.ส.และจะมีวาระในการเลือกอีกหนึ่งครั้ง ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ จังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย สภาทำการบ้านในส่วนของเขา พรรคการเมืองก็ต้องทำส่วนต่าง ๆ ของเขา แต่คำตอบต้องมาจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ปรึกษาผม” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ความเห็นของสภา ฯ เป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเพียงฝ่ายกฎหมายของสภา ไม่ใช่รัฐสภา ส่วนรัฐบาลจะเดินหน้าหรือไม่ยังไม่ถึงเวลาและยังไม่ได้คุยกฤษฎีกา ส่วนจะรอถึงสิงหาคม 2565 หรือไม่ ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม สามารถใช้คำวินิจฉัยที่ออกมาได้
ส่วนที่ฝ่ายค้านจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถยื่นได้ทุกคน แต่ขณะนี้ปัญหายังไม่เกิด ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำถามที่ยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วสายเกินแก้ จึงต้องมีเวลาที่เหมาะสม
เมื่อถามว่า ปี 2565 มีอะไรน่ากังวลหรือไม่ เพราะปี 2564 เกิดเหตุการณ์ประชุมสภาฯ ล่มบ่อยครั้ง นายวิษณุ กล่าวว่าในปีหน้าสมัยประชุมจะปิดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จึงทำให้มีเวลาเหลืออีก 1 เดือน 28 วัน ซึ่งมีกฎหมายต้องเข้าสู่การพิจารณา เช่น พ.ร.ก.วาดา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลายฉบับเป็นกฎหมายที่ต้องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา หลัก ๆ เป็นกฎหมายปฏิรูป
“ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ยังไม่เข้าสมัยประชุมนี้ ดังนั้น สมัยประชุมนี้จะยังไม่มีอะไรเข้มงวด แต่สมัยประชุมหน้า ประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เข้าสภา และกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี สามารถยื่นในสมัยการประชุมนั้นได้” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์การเมืองในเดือนพฤษภาคมจะมีอะไรตื่นเต้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใน 120 วันดังกล่าวที่เปิดสมัยประชุมจะมีกิจกรรมการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้นได้ ส่วนเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ผ่านสมัยการประชุมช่วงเดือนพฤษภาคม จะทำให้มีเสียงเรียกร้องเรื่องยุบสภาหรือไม่นั้น ทุกวันนี้ก็มีเรียกร้องให้ยุบสภา แต่จะตอบสนองกระแสได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“บางทีอยากสนองก็สนองไม่ได้ แม้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ มีผลใช้บังคับแล้วตามข้อกำหนดของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้าไปดูกฎหมายลูก จะยุบสภาก่อนก็ทำได้ แต่กฎหมายบางอย่างมีเรื่องของกำหนดระยะเวลาเช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีกำหนดระยะเวลา หากเกิดอุบัติเหตุอะไรเสียก่อนภายใน 90 วันคงไม่ได้ ต้องรอผลของกฎหมายลูก รวมทั้งไม่ใช่แค่เป็นเจ้าภาพเอเปค ยังมีการประชุม G 20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ซึ่งความคาดหมายของนานาประเทศ จะประชุมเจรจากับรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แต่หลังจากนั้นจะเป็นรัฐบาลใดก็ได้ ทุกคนรู้ว่าเป็นอย่างไร” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ถ้าระหว่างทำกฎหมายลูกและยังไม่มีผลบังคับใช้ แล้วเกิดการยุบสภาขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยุบได้ แต่จะเกิดปัญหากติกาไม่ชัดเจน เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าหากจำเป็นต้องยุบสภาและยังไม่มีกฎหมายลูกให้กกต.เป็นผู้วางระเบียบ ซึ่งขณะนี้ข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกตัดทิ้งไปแล้ว เพราะไม่มีใครเห็นด้วย จึงต้องอาศัยกฎหมายลูกเท่านั้น
“หากจะใช้ช่องทางออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) แก้ขัดไปก่อน ถือว่าเป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออกพ.ร.ก.เป็นการกำหนดของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว สภาฯ จะยอมหรือไม่ หากรัฐบาลเป็นคนวางกติกาโดยที่สภาไม่มีสิทธิ์เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่หากเขาไม่รับแล้วการเลือกตั้งผ่านไป เกิดปัญหาขึ้นจะทำอย่างไร หากพ.ร.ก.นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งลงทุนไป 6 พันกว่าล้านบาทก็จะเป็นปัญหา” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย