ทำเนียบรัฐบาล 5 พ.ค.-นายกฯ เผยมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยโควิดกว่า 3 หมื่นเตียง เตรียมเปิด รพ.สนามเพิ่มที่อิมแพค อารีนา-ทุ่งครุ ใช้โมเดลสมุทรสาครสกัดแพร่เชื้อ เร่งตรวจเชิงรุกคลองเตย ตั้งศูนย์บูรณาการเร่งแก้ปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง โดยนายกรัฐมนตรี แถลงผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) ได้ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้แก้ไขทั้งการบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด โดยให้จัดแบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามระดับอาการเป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับสีเขียว เหลือง แดง
“ที่ผ่านมาสามารถจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงที่ตกค้างเข้าสู่ระบบการรักษาตามที่แบ่งไว้ 3 กลุ่ม โดยปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนได้ทันที และนับจากวันจัดตั้ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รับเข้ามาไปแล้วถึง 96% ทำให้ขณะนี้มีเตียงว่างพร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม รวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง และรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน และทุกคน ทุกองค์กรจิตอาสา ที่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกัน จนสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคลัสเตอร์คลองเตยว่า ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยใช้ประสบการณ์จากการจัดการใน จ.สมุทรสาคร ได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” โดยเน้นการตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่ติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คน/วัน โดยหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน
“จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที คือ แยกผู้ป่วยตามระดับอาการแล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ซึ่งจะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกันจะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คน/วัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้ยังมีเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ต้องขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักกรณีฉุกเฉิน เปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักอีก 432 เตียง อำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง
“หลักการที่ผมเน้นย้ำเป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่าง คือ ต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาได้สำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอ เหลือในสตอก 1.5 ล้านเม็ด กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด ในเดือนนี้ จึงไม่ต้องกังวลว่ายาจะไม่พอ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการจัดหาและการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ว่า ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ซึ่งได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อเอาชนะสงครามโควิดในครั้งนี้ให้ได้
“เพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและมีโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น จึงตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้แก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งการดำเนินการของศูนย์นี้จะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยทั้งสองคณะและ ศบค.ทุกชุด จะมีคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้คำปรึกษา ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ เป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างดีด้วย.-สำนักข่าวไทย