สำนักงานป.ป.ช. 19 มี.ค.-พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินหน้าเอาผิดรมต.หลังซักฟอก ยื่นป.ป.ช. เอาผิด “ศักดิ์สยาม –นิพนธ์” ระบุผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อพวกพ้อง
ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายมงคลกิตต์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้ายื่นคำร้องต่อกรรมการปิองกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีมีพฤติการณ์และหลักฐานที่เชื่อว่ากระทำการทุจริต
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า นายศักดิ์สยามมีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ส่งร่างทีโออาร์การประมูลโครงการต่าง ๆ ให้ตรวจสอบก่อน และเมื่อประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนลงนามในสัญญาจะต้องแจ้งให้รัฐมนตรีรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อสั่งการดังกล่าว ทำให้เห็นถึงการแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกระทำการนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนดไว้ ทำให้ทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงาน ก่อนจะก่อสร้าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เป็นพวกพ้องของตน และยังทำให้ข้าราชการในสังกัดไม่กล้ากำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงานให้แตกต่างเป็นอย่างอื่น
หนังสือยังระบุว่า การกระทำของนายศักดิ์สยาม เป็นการแทรกแซงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ เพื่อนำไปสู่การลงโทษตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ยื่นขอให้เอาผิดกับนายศักดิ์สยาม กรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบว่ามีเครือญาติของนายศักดิ์สยามเข้าครอบครองที่ดินจำนวนกว่า 5,000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ แต่รัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทยกลับไม่เพิกถอนโฉนด ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ซึ่งถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จซสงขลา ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน
สำหรับการยื่นร้องเอาผิดต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ เป็นผลพวงมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้ และถือเป็นรัฐมนตรีจำนวน 4 รายแล้วที่ถูกยื่นร้องต่อป.ป.ช. ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ยื่นเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การยื่นคำร้องวันนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเห็นว่านายศักดิ์สยามและนายนิพนธ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่รักษาประโยชน์ประเทศชาติ ทำให้ทรัพย์สินประเทศเกิดความเสียหาย รายละเอียดส่วนใหญ่อยู่ในการอภิปราย โดยเฉพาะประเด็นกระทรวงคมนาคม จริง ๆ เป็นเรื่องเก่าที่ป.ป.ช.มีมติเป็นที่ยุติแล้วเมื่อปี 2554 และทำหนังสือให้รฟท.ขับไล่ผู้บุกรุก ให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่ปราฎว่ายังไม่มีการดำเนินการ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินตามแผนที่ 5,083 ไร่ 80ตารางวาเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ หวงห้ามไว้เป็นสาธารณสมบัติ อยู่ในการดูแลของการรถไฟ และศาลมีคำสั่งว่าใครที่เข้าไปครอบครองอยู่ให้เพิกถอน รื้อถอน และเรียกค่าเสียหาย ประเด็นนี้ได้อภิปรายรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการรถไฟ และรมว.คมนาคม ซึ่งการมาร้องป.ป.ช.ของฝ่ายค้านก็เป็นการดำเนินการให้สุดกระบวนการ ส่วนรายละเอียดไม่ขอเปิดเผย เพราะป.ป.ช.รับไว้พิจารณาแล้ว
นายนิคม กล่าวว่า ขณะนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีรุกที่เขากระโดงแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายที่ใครไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ส.ส.หรือนายกก็ตาม อยากให้กฎหมายบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่กฎหมายมีไว้เพื่อขังคุกคนจน คนไม่ร่ำรวย ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ การกระทำของนายศักดิ์สยาม จึงเข้าข่ายมาตรา 157 ละเว้นการปฏบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมและการรถไฟ แต่ไม่มีการดำเนินการต่อทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นของการรถไฟ ฝ่ายค้านจึงต้องยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ
นายมงคลกิตต์ กล่าว่า ที่ต้องดำเนินการกับนายศักดิ์สยาม เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนใช้เวลารวบรวมหลักฐานและฟังคำชี้แจงของศักดิ์สยามแล้ว จึงได้มายื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อ ใน 3 ประเด็น 1.กระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 เกี่ยวกับเรื่องของการแทรกแซงหน่วยงานในกำกับในกระทรวงคมนาคมทั้งหมด และให้ไปตรวจสอบว่ากากรระทำดังกล่าวมีการรู้เห็น หรืออาจจะรู้เห็นเป็นใจอย่างไร ในการปล่อยปละละเลยให้หน่วยงานในกำกับแก้ไขคุณลักษณะในการประกวดราคาในปีงบประมาณ 63 และ 64 โดยปี 63 ไม่ได้ลงนามในเอกสาร แต่ปี 64 นายศักดิ์สยามลงนามเซ็นกำกับ แม้จะชี้แจงว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล แต่ก็เห็นว่าควรให้ป.ป.ช.ชี้ให้ชัดว่าทำถูกต้องหรือไม่
นายมงคลกิตต์ กล่าวว่า พบว่ามีการดำเนินการแก้ไขคุณลักษณะในการประมูลงานของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเคยบอกแล้วว่าการรับเหมา การก่อสร้างงานให้กำหนดคุณลักษณะแฉพาะประสบการณ์และผลงานที่เคยประมูลงานมา ไม่น้อยกว่า 40 % ซึ่งไม่มีใครเขาดำเนินการว่างานก่อสร้างไปจะต้องมีโรงงานผสมแอสฟัสท์คอนกรีตหรือหนังสือรับรอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกีดกันทางการค้า อาจเข้าข่ายเป็นการทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาหน่วยงานรัฐ 42 มาตรา 11 และมาตรา 13 จึงต้องให้ป.ป.ช. ตรวจสอบ
นายประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายนิพนพธ์ เป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรมของนักการเมือง ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อบังคับ ระเบียบป.ป.ช.ที่จะไปดำเนินการต่อได้ รายละเอียดเป็นไปอย่างที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงได้มายื่นต่อป.ป.ช มั่นใจว่าเอกสารมีน้ำหนักที่ป.ป.ช.จะสามารถพิจารณาได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องไปหาพยานหลักฐานอื่น และหวังว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาอย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย .-212(410)