กรุงเทพฯ 11 ก.พ.-ศาลปกครองไต่สวน กทม.ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท รอบสอง “สิริพงศ์” แฉ กทม.ไม่ส่งรายละเอียดการคำนวณค่าโดยสาร – ตารางเดินรถ อ้างเลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารเป็นมติสภา กทม. แต่ไม่พร้อมส่งรายงานการประชุมสภา กทม.ให้ศาลพิจารณา เชื่อเจตนายื้อเวลาพิจารณาคดีของศาล
ศาลปกครอง วันนี้ ( 11 ก.พ.) ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเป็นครั้งที่ 2 ในคดีที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย และส.ส.ภูมิใจไทย ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ขอให้ศาลสั่งเพิกถอน ประกาศกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 เรื่องค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 (ซอยสุขุมวิท 95 ซอยสุขุมวิท 107) ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 (ตากสิน-เพชรเกษม) ระยะทาง 6.3 กิโลเมตร ทำให้การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท หลังกรุงเทพมหานครประกาศเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารดังกล่าวที่จะมีผลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน โดยอ้างเพื่อลดผลกระทบของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
หลังการไต่สวน นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ศาลเรียกคู่กรณีมาไต่สวนเพิ่มเติมถึงเหตุผลว่าทำไม กทม.ถึงมีการเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสาร 104 บาทออกไป และขั้นตอนในการดำเนินการเลื่อนทำอย่างไร และภาระที่ กทม. ระบุก่อนหน้านี้ว่าหากไม่มีการปรับขึ้น กทม.จะได้รับผลกระทบนั้นเป็นอย่างไร ซึ่ง กทม.ชี้แจงว่าการเลื่อนการขึ้นค่าโดยสารเป็นนโยบายของครม. ที่ต้องการลดภาระของประชาชน แต่ก็ไม่ได้มีลายลักษณ์อักษรยืนยัน ส่วนขั้นตอนการเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสาร ได้มีการเสนอเข้าที่ประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งทางศาลได้ขอรายงานการประชุม แต่ทาง กทม.ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะจัดส่งได้เมื่อใด รวมทั้งชี้แจงว่าการไม่ปรับค่าโดยสารในขณะนี้ก็ยังคงจะสร้างภาระให้กับ กทม.อยู่เช่นเดิม แต่สามารถชะลอได้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ตนก็ได้ชี้ให้ศาลเห็นว่าการที่ กทม.ยังทำตามกระบวนการไม่ครบถ้วนในการลดค่าโดยสาร เช่น รายได้เชิงพาณิชย์ตามสถานีต่างๆ ที่มีการโฆษณาบนรถไฟฟ้า กทม.ไม่ได้มีการดำเนินการจัดเก็บใดๆ เพื่อจะมาลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เอกสารที่ศาลขอให้ กทม.จัดส่งมาก่อนหน้านี้ กทม.ก็ยังส่งมาไม่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการคิดราคาค่าโดยสาร สัดส่วนการเทียบราคาต่างๆ จึงตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ ซึ่งศาลก็ได้มีการขอเอกสารเพิ่มเติมอีกหลายรายการกับ กทม.
“ยังไม่มีข้อสรุป ศาลได้ถามว่า กทม.จะจัดส่งเอกสารได้เมื่อใด อย่างเช่นตอนแรก กทม.จะขอส่งสรุปรายงานการประชุมสภา กทม. ผมก็แย้งว่ารายงานสรุปไม่เพียงพอ ต้องเป็นรายงานการประชุมที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง กทม.ก็แย้งว่าถ้าจะให้ส่งรายงานฉบับนี้อาจต้องใช้เวลาเป็นปี ศาลก็ถามว่าทำไมจะต้องใช้เวลานานขนาดนั้น แต่เราคิดว่าถ้าได้เอกสารรายงานการประชุมสภา กทม. ก็จะเห็นว่ามติการให้เลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารออกไปเป็นอย่างไร การรับสัมปทาน ถ่ายโอนภาระหนี้จาก รฟม. ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพราะอาจมีอยู่ในวาระการประชุมของสภา กทม.ด้วย” นายสิริพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่ารายได้เชิงพาณิชย์ตามสถานีต่างๆที่มองว่ากทม.ควรนำมาคิดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร ที่ไม่สร้างภาระให้กับประชาชน เป็นไปได้หรือไม่ ว่าต้องรอให้มีการคุยเรื่องสัมปทานที่ต้องเสนอต่อครม.ก่อน นายสิริพงศ์ กล่าวว่า เขาก็บอกอย่างนั้น แต่ในมติครม. มันพูดเรื่องการเดินรถ ทรัพย์สินเป็นของกทม. เพราะรับโอนมาจากรฟม.แล้ว แต่ถึงเขาไปคุย มันไม่ใช่ว่าเขาทำไม่ได้ เพราะวันนี้กทม.รู้ว่าตัวเองมีภาระหนี้ สมมติว่าเขารับสัมปทานตัวนี้มา เขาอาจจะเสนอขายเป็นก้อนก็ยังได้ มันอยู่ที่วิธีเจรจาสัมปทาน แต่วันนี้มันแสดงให้เห็นว่ากทม.ไม่ได้คิดถึงวิธีลดภาระให้กับประชาชน นอกจากจะจัดเก็บโดยสารเพิ่ม
“เขาอ้างว่าที่จัดเก็บได้มันไม่เยอะ อย่างส่วนต่อขยายที่ 1 ตรงตากสิน – วงเวียนใหญ่ มีรายได้อยู่ประมาณ 33 ล้านบาท คิดเป็น 5-8เปอร์เซ็นต์ ผมก็คิดว่านี่เป็นระยะทางสั้นๆ เขายังเก็บได้ขนาดนี้ แต่ในขณะที่ในสายสีเขียวรอบนอกที่วิ่งฟรีอยู่ เขาบอกว่าขาดทุน เดือนละ 100 ล้าน ผมก็คิดว่าเป็นการลดภาระให้กับประชาชนเหมือนกัน แม้ข้อเท็จจริงมันจะเทียบกันไม่ได้ แต่เขาต้องทำให้เห็นก่อนว่าเขาพยายามเต็มที่แล้ว” สิริพงศ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย